หลายประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวและเตรียมทบทวนการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีการห้ามซื้อ ขาย และนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ ขณะที่ไทยพบผู้ป่วยรายแรกจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ตอกย้ำถึงอันตรายที่ได้ปรากฏให้เห็น โดยรัฐบาลไทยยังคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด
ไทยเข้มห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อปลายปี 2562 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศเตือนให้หยุดสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด หลังพบผู้เสียชีวิตและป่วยปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า เสียชีวิต 48 ราย ป่วย 2,291 ราย ด้านทวีปยุโรปอย่างประเทศอังกฤษและเบลเยียมก็พบผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ได้ประกาศยืนยันการคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้เข้ายื่นหนังสือ ชื่นชมจุดยืน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย และปรากฏให้เห็นแล้วเมื่อพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ารายแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2562
ด้านภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้ส่งหนังสือต่อรัฐบาลให้ช่วยผลักดัน ‘ยารักษาโรคเสพติดยาสูบ เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ’ เพื่อช่วยรักษาผู้สูบบุหรี่ที่มีพฤติกรรมการสูบหนัก ซึ่งในการให้ยาจะมีความคุ้มทุนมากกว่าการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ แม้ว่ายาช่วยเลิกบุหรี่มีบริการอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งยาถือว่ามีความจำเป็นสำหรับรายที่ติดบุหรี่อย่างหนักจนไม่สามารถเลิกได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในประเทศไทยมีประมาณ 2.3 ล้านคน
ทั้งนี้ การทำให้ผู้ติดบุหรี่อย่างหนักได้เข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ จะช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายของรัฐได้มาก เพราะเมื่อเทียบความสูญเสียในผู้ป่วยโรคเดียวกัน ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่กับไม่สูบ พบว่า ผู้สูบบุหรี่ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ร้อยละ 40 และรัฐจะต้องจ่ายค่ารักษาโรคให้แก่ผู้สูบสูงกว่าคนไม่สูบถึงร้อยละ 60
บุหรี่ไฟฟ้าจากมุมมองทั่วโลก
รายงานจากทั่วโลกพบว่า มีการตายและป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ โดยมีข้อสังเกตทางการแพทย์ที่น่าสนใจคือ เมื่อสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสามารถป่วยและตายได้ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือน
ล่าสุด ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบผู้ป่วยปอดอักเสบที่เกี่ยวเนื่องกับบุหรี่ไฟฟ้ารายแรก เป็นเด็กสาววัย 16 ปี โดยประกาศจะจับกุมทุกคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ ซึ่งฟิลิปปินส์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายต่อต้านการสูบบุหรี่ที่เคร่งครัดที่สุดของโลก
ด้านบังคลาเทศมีแผนห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหวั่นผลกระทบต่อเยาวชนและสุขภาพของคนในประเทศสำหรับประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามนำเข้า ขาย บริการ และครอบครอง ซึ่งมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในเดือน ต.ค. 2562 มีการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ส่งสินค้าทางไปรษณียภัณฑ์ ที่ย่านตลิ่งชัน มูลค่าของกลางกว่า 7 ล้านบาท และจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ที่ย่านคลองถมเซ็นเตอร์ จากการเข้าตรวจค้นกว่า 15 ร้านค้า พบผู้ต้องหาคนไทย 7 คน คนต่างด้าว 3 คน และพบของกลางจำนวนมาก อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า 566 ตัว น้ำยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า 5,158 ขวด อุปกรณ์ 1,362 ชิ้น และหัวบุหรี่ไฟฟ้า 402 หัว รวมมูลค่าของกลางกว่า 12 ล้านบาท
วัยรุ่นไทย เป็น “นักลอง” บุหรี่ไฟฟ้า
ผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มนักศึกษาที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้าจาก ศจย. พบว่า นักศึกษาเกือบร้อยละ 100 รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า โดย 1 ใน 3 อยากลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกือบครึ่งมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา คือ เป็นอันตรายน้อยกว่า ลดความเสี่ยงมะเร็งปอด ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ และเชื่อว่าไม่ทำให้ติด เพราะไม่มีนิโคติน
แม้จะมีข่าวดังทั่วโลกว่ามีคนตายจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้วในสหรัฐอเมริกา แต่มีนักศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่รู้ข่าวนี้ และจำนวน 1 ใน 6 ยังเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
ทั้งนี้ผลโพลตอกย้ำว่าสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยน่าเป็นห่วง โดยเยาวชนยังมีความสับสนเรื่องข้อมูลของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
ดังนั้น เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี จึงร่วมกับ ศจย. สร้างระบบการเฝ้าระวัง โดยเบื้องต้นได้รวบรวมข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้ารวมถึงการดูแลรักษา
นอกจากนี้ รพ.รามาธิบดี ได้เตรียมการสร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงในการดูแลผู้บาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยจะทำระบบรับแจ้งเหตุจากบุหรี่ไฟฟ้า (E-cig Emergency) จากศูนย์รับแจ้งเหตุห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศ เพื่อให้มีการดูแลที่มีประสิทธิภาพและมีฐานข้อมูลเพื่อติดตามสถานการณ์การบาดเจ็บจากบุหรี่ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้สูบบุหรี่สามารถปรึกษาเลิกบุหรี่กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อการเลิกบุหรี่ที่ถูกต้อง ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
“ปัจจุบันหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา หลายรัฐเริ่มออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว และในประเทศไทยก็ได้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ จากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายแรกของประเทศแล้ว”