Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    ผลสำรวจเผยคนกรุงเทพมหานคร 45.2% มีรายได้ลดลงจากวิกฤตโควิด-19

    ผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องความเครียดของคนกรุงเทพมหานคร ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,216 ตัวอย่าง ที่ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2563 โดย สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอยูโพล (AU Poll) พบว่ามีคนกรุงเทพฯ มากถึงร้อยละ 83.1 มีความเครียดภายใต้สถานการณ์โควิด-19

    คนกรุงเทพมหานครร้อยละ 83.1 มีความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19

    ผลดัชนีความเครียดที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ของคนกรุงเทพมหานคร ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่ดำเนินการสำรวจโดย เอยูโพล (AU Poll) พบว่าคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 83.1 มีความเครียดเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยความเครียดมาจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้


    – ร้อยละ 75.8 เครียดกับเรื่องรายได้และหน้าที่การงาน
    – ร้อยละ 69.4 กลัวว่าจะติดโรคโควิด-19
    – ร้อยละ 46.1 ความเครียดเรื่องสุขภาพ
    – นอกจากนี้ยังมีความเครียดที่เกิดขึ้นจากความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน การเรียนออนไลน์ การทำงานแบบ Work From Home ตลอดจนปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้น

    คนกรุงเทพฯ เกือบครึ่งมีรายได้ลดลงในวิกฤตโควิด-19

    ในส่วนของรายได้ที่ลดลงอันเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน พบว่าผลที่ได้รับจากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีดังนี้

    – ร้อยละ 45.2 มีรายได้ลดลง
    – ร้อยละ 16.1 ธุรกิจได้รับผลกระทบ
    – ร้อยละ 11.6 ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
    – ร้อยละ 10.2 เป็นหนี้มากขึ้น
    – ร้อยละ 7.7 ไม่มีงานทำ

    คนกรุงเทพฯ ทุกเพศ ทุกวัย มีความเครียดเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด

    เมื่อพิจารณาความเครียดในแต่ละวัย พบว่า คนกรุงเทพฯ ในช่วงวัยทำงานมีความเครียดเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน และการงาน มากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ ส่วน GEN Z (ช่วงอายุ 15-18 ปี) เครียดว่าจะติดโรคโควิด-19 และเครียดเกี่ยวกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน มากกว่าเรื่องอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด
    ในขณะที่ด้านสุขภาพ GEN B (อายุมากกว่า 50 ปี) เครียดเรื่องสุขภาพมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ

    ทั้งการใช้รูปแบบการดำเนินชีวิต New Normal พบว่าทุกช่วงวัยไม่ได้เครียดกับเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐบาลมาระยะหนึ่งจนเกิดความเคยชิน และถือว่าเป็นการใช้ชีวิตแบบปกติไปแล้ว

    การเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนกรุงเทพฯ หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้นร้อยละ 53.7

    ผลการสำรวจในครั้งนี้ยังพบว่า การวางแผนชีวิตในอนาคตข้างหน้าภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ของคนกรุงเทพฯ เป็นดังนี้

    – ร้อยละ 53.7 จะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น
    – ร้อยละ 50.2 ใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
    – ร้อยละ 49.2 วางแผนการใช้เงินอย่างมีระบบ
    – ร้อยละ 40.1 ไม่ไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
    – ร้อยละ 35.9 ติดตามข่าวสารสถานการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น

    นอกจากนี้ยังต้องมีการหารายได้เพิ่ม ปรับ-ลด รูปแบบการลงทุน หรืออาจกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ ตลอดจนกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนา เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน