Blackbox Research, Dynata, และ Language Connect ได้ออกแบบสำรวจหัวข้อ Unravel Travel: Fear & Possibilities in a Post Coronavirus (COVID-19) World หรือการวิเคราะห์ความคิดเห็น ความพึงพอใจ และความคาดหวังจากกลุ่มตัวอย่าง 10,195 คน ใน 17 ประเทศ อายุระหว่าง 25 ถึง 65 ปี
ด้วยการสำรวจในเดือนมิถุนายน 2563 เกี่ยวกับการเดินทางหลังสถานการณ์โควิด-19 (นิวนอร์มัล) และมีการประยุกต์ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งประเภทในทุกตัวแปรประชากรศาสตร์ และภูมิศาสตร์หลัก เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง
คนไทย 82% เชื่อว่าประเทศพร้อมเปิดรับกิจกรรมเพื่อการพักผ่อน และท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ผลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทย 4 ใน 5 (82%) เชื่อมั่นว่าประเทศไทยพร้อมเปิดรับกิจกรรมเพื่อการพักผ่อน และท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยความมั่นใจของคนไทยมีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบจากทุกประเทศที่ร่วมการสำรวจ
ทั้งผลการสำรวจยังระบุว่านักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย ต่างยกให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางแรก เมื่อประเทศของตนเปิดพรมแดนอีกครั้ง
ไทยพึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11%
โดยจากบทวิเคราะห์พบว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก พบรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า คนไทยส่วนใหญ่ (93%) ตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ คนไทย 22% ยังเห็นด้วยว่าหน่วยงานการท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ รวมถึงในประเทศไทย มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน โดยการเห็นด้วยของคนไทยมีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบจากทุกประเทศที่ร่วมการสำรวจ
และการที่ประเทศไทยมีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในระดับต่ำ และมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งในการรับมือกับโรคระบาด จึงได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค และระดับโลกให้เป็นจุดหมายปลายทางที่วางใจได้
ไทยดึงดูดใจคนในประเทศให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากที่สุดถึง 91%
สำหรับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าไทยมีแรงดึงดูดใจคนในประเทศมากที่สุด โดย 91% ของคนไทยพร้อมส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวก
เนื่องจากประเทศไทยลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 2.24 หมื่นล้านบาท (720 ล้านดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งบางส่วนเป็นการสนับสนุนทางการเงินแก่นักท่องเที่ยวในประเทศที่ใช้บริการโรงแรม และร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ
พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญของการท่องเที่ยวยุคโควิด-19
ทั้งรัฐบาลยังต้องคำนึงถึงลำดับความสำคัญของปัจจัยในการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
เพราะผลสำรวจในภาพรวมพบว่า หากมีการเดินทางท่องเที่ยวครั้งต่อไป ราคาอาจไม่ใช่ปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยปัจจัยที่มีความสำคัญรองลงมาได้แก่
– พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง (18%)
– ที่พัก (15%)
– แหล่งท่องเที่ยว (10%)
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ มาตรการความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวกลับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ดังนี้
– แหล่งท่องเที่ยว (53%)
– ที่พัก (46%)
– พาหนะที่ใช้ในการเดินทาง (43%)
และเพื่อสนับสนุนให้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศประสบผลสำเร็จ ทั้งรัฐบาล และผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องทำงานร่วมกัน เพื่อรับรองว่ามีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ความปลอดภัย และความสะอาดอยู่ตลอดเวลา
เนื่องจากเริ่มเกิดกระแสความต้องการท่องเที่ยวภายในประเทศ ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ จะเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารถึงความไว้วางใจไปยังนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างได้อีกด้วย
การท่องเที่ยวยุคนิวนอร์มัล เน้นความปลอดภัย และประสบการณ์ไร้สัมผัส
ผลสำรวจสิ่งที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ ในการท่องเที่ยวยุคนิวนอร์มัลพบดังนี้
– 80% เต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อที่พักที่ปลอดภัยขึ้น
– 76% มองจุดหมายปลายทางที่ให้ความใส่ใจในการมอบประสบการณ์ไร้สัมผัส
– 74% ยอมจ่ายเบี้ยสำหรับประกันภัยการเดินทางสูงขึ้นเพื่อความคุ้มครองโควิด-19
– 66% ต้องการเดินทางโดยยานพาหนะของตนเองเมื่อขับรถเที่ยวระหว่างเมืองหรือประเทศ
– เดินทางโดยเครื่องบิน (18%)
– รถยนต์หรือแท็กซี่เช่าหรือจ้างเหมา (9%)
– รถประจำทางหรือรถไฟ (7%)
เที่ยวยุคนิวนอร์มัลต้องเจออะไรบ้าง ?
สำหรับรูปแบบการเดินทางในยุคนิวนอร์มัล ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดใหม่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกคาดหวังว่าจะมีการนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้ มีดังนี้
– บัตรผ่านขึ้นเครื่องแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-boarding Pass) (44%)
– ห้องน้ำไร้สัมผัส (43%)
– การเดินทางไร้สัมผัสจากสนามบินถึงโรงแรม (40%)
– การไม่มีที่นั่งตรงกลางในการคมนาคม (36%)
– หนังสือเดินทางสุขภาพ (Digital Health Passport) (35%)