การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในยุคโควิด-19 ของวันเดอร์แมน ธอมสัน ที่ทำการสำรวจระหว่างเดือนกรกฎาคม จำนวน 812 คน ช่วงอายุ 15-60 ปี เป็นชาย 32% หญิง 68% ครอบคลุมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมถึงปริญญาเอก อาชีพรายได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10,000 บาท – 50,000 บาทขึ้นไป
ประชาชน 70% มีความกังวลด้านเศรษฐกิจและการเงินมาก
เริ่มจากด้านการเงินและเศรษฐกิจ พบว่าคนไทยกว่าครึ่งหนึ่งเลือกที่จะไม่ลงทุนกับเรื่องใด ๆ เลย แต่เลือกที่จะถือเงินสดไว้กับตัว หรือเลือกที่จะฝากเงินไว้ที่ธนาคารมากกว่า โดยผู้บริโภคเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ชอบความเสี่ยง (Risk-Averse) คือจะไม่ลงทุนใด ๆ นอกจากการออมเงิน เนื่องมาจากระดับรายได้และกังวลว่าลงทุนแล้วจะไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา แบ่งเป็นตัวเลขได้ดังนี้
– 71% มีความกังวลด้านเศรษฐกิจและการเงินมาก
– 60% มีความกังวลในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวได้ช้า
– 60% กังวัลเรื่องหน้าที่การงานและธุรกิจของตนเองจะหยุดชะงัก
แต่หากดูในสิ่งที่ผู้บริโภคเลือกลงทุนมากที่สุดในช่วงนี้ พบว่า
– 33% เลือกลงทุนไปกับการออมเงินประจำเดือน
– 20% ลงทุนเปิดธุรกิจของตัวเอง
– 12% ลงทุนกับการซื้อประกันภัย
ประชาชน 62% กังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานของตนเอง
ส่วนเรื่องการงานและอาชีพ พบว่าช่วงนี้คนไทยไม่ได้มองเรื่องความก้าวหน้าทางการงานเป็นเป้าหมายหลักอีกต่อไป กลับมองว่าการมีงานทำ คือเรื่องสำคัญที่สุด โดยจากการศึกษาในเรื่องอาชีพ และการทำธุรกิจพบดังนี้
– 62% มีความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานของตนเอง
– 48% มีความกังวลเรื่องการถูกลดเงินเดือน
– 47% มีความกังวลในเรื่องของการถูกเลิกจ้าง / ไม่มีงานทำ
ทั้งเมื่อศึกษาในเรื่องความต้องการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ทำในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า
– 51.6% ลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน
– 50.1% ลดการออกไปสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน
– 50% ลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
– 31.5% เพิ่มความสามารถและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ในการทำงาน
– 19.4% เลือกที่จะใช้ไปกับการลงทุนเพิ่มขึ้น
ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ เช่นการไปท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศ การไปยิมเพื่อออกกำลังกาย และการไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าก็มีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน
คนทุก Gen มีความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านการงาน และการเงินเหมือนกัน
โดยจากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมยังพบว่าสถานการณ์ตอนนี้คนทุกเจนเนอเรชั่น ต่างมีความกังวลในเรื่องของความมั่นคงทางด้านการงาน และการเงินเหมือนกัน ซึ่งแต่ละ Gen ก็มีการปรับตัวที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
Gen Z : ชีวิตที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วย Passion อย่างเดียว โดย Gen Z เป็นกลุ่มคนที่กำลังจะจบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่อัตราการว่างงานสูง ทำให้ Gen Z มีเวลาที่จะทบทวนตนเองมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ทบทวนความชอบของตัวเองอีกครั้ง และเริ่มกลับมาเรียนรู้ทักษะเพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายของอาชีพที่มั่นคงในอนาคตก่อน แล้วเก็บความชอบของตนเองไว้เป็นเรื่องรองลงมา
Gen Millennials : เปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้เป็นรายได้ และเป็นกลุ่มที่เริ่มทำงานมาสักพัก ตอนนี้จะเริ่มทบทวนตัวเองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการใช้จ่าย กิจกรรมท่องเที่ยว และการพักผ่อนที่ไม่สามารถทำได้เช่นเดิม งานที่ทำเริ่มขาดความมั่นคง ทำให้ต้องเริ่มพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่องานของตนเอง หรือเอื้อต่อความก้าวหน้าในอนาคต
กลุ่มคนต่างจังหวัด : นับเป็นกลุ่มคนที่มีการปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว เนื่องจากมีเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ภัยธรรมชาติ ค่าแรง ราคาผลผลิต จึงมีการปรับเปลี่ยนการทำงานตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว