รายงานการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเยาวชนและวัยรุ่นกลุ่มเปราะบางในไทยจากโควิด-19 พบเยาวชนต้องเจอทั้งการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางสังคม เข้าไม่ถึงการดูแลด้านสุขภาพและการศึกษา ฯลฯ และหากไม่แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จะฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านการพัฒนาเยาวชน
เยาวชนร้อยละ 80 ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางสังคมช่วงล็อกดาวน์
โดยจากการสำรวจ 6 ชุด ของคณะทำงานกลุ่มย่อยด้านเยาวชนขององค์การสหประชาชาติ ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม ถึง 30 กรกฏาคม 2563 ด้วยแบบสำรวจออนไลน์และสุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (convenient sampling) ประกอบด้วย
เยาวชนทั่วไป
– จำนวน 6,771 คน (เก็บข้อมูลระหว่าง 28 มีนาคม – 10 เมษายน 2563)
– จำนวน 818 คน (เก็บข้อมูลระหว่าง 11 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2563)
เยาวชนชาติพันธุ์หรือไร้สัญชาติ
– จำนวน 1,005 คน (4 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2563)
แม่วัยรุ่น
– จำนวน 90 คน (11 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2563)
เยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
– จำนวน 215 คน (11 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2563)
เยาวชนที่มีความพิการ
– จำนวน 186 คน (12 มิถุนายน – 24 กรกฎาคม 2563)
พบว่าประมาณร้อยละ 80 ของเยาวชนและวัยรุ่นไร้สัญชาติจำนวน 1,000 คนที่ร่วมทำการสำรวจรายงานว่าตนเองและครอบครัวไม่ได้รับความช่วยเหลือทางสังคมในช่วงล็อกดาวน์ และกลุ่มวัยรุ่นไร้สัญชาติน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ได้
นอกจากนี้ เยาวชนและวัยรุ่นที่มีความพิการเกือบทั้งหมดที่ทำแบบสอบถามรายงานว่าไม่มีอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงการเรียนที่บ้าน
ทั้งเยาวชนและวัยรุ่นจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับการว่างงานเพิ่มขึ้น“สองเท่า”ในช่วงการระบาดใหญ่ และเพิ่มขึ้น“สี่เท่า”ในช่วงการล็อกดาวน์ ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนและวัยรุ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณร้อยละ 41 รายงานว่าพวกเขารู้สึกกังวลมากถึง 3-4 วันต่อสัปดาห์
โควิด-19 ส่งแม่วัยรุ่นร้อยละ 42 ไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้
ในส่วนของแม่วัยรุ่นพบว่าร้อยละ 42 ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลได้ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่และการล็อกดาวน์จากโควิด-19 และร้อยละ 36 ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพเด็กได้
นอกจากนี้ วัยรุ่นและเยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม LGBTQ ประมาณ ร้อยละ 39 ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ เช่น
– การรับคำปรึกษาเรื่องเพศ
– การป้องกันและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ทั้งประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงมีเพศสัมพันธ์ในช่วงการล็อกดาวน์ และพบว่าการเข้าถึงการคุมกำเนิดเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์ในอันดับต้น ๆ
ดังนั้นจะเห็นว่าโควิด-19 ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น เพิ่มอุปสรรคต่อการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทั้งส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษา ต่อการให้บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และส่งผลต่อการจ้างงาน
ซึ่งนับเป็นสิ่งคุกคามความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดความยากจน การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในประเทศที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไข