รายงานวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไทย หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จากข้อมูล Google Trends (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.ย. 63) ซึ่งเป็นการค้นหาคำต่าง ๆ ผ่าน Google Search ที่จัดทำโดย EIC พบไลฟ์สไตล์ยอดฮิตของคนไทยหลายประเภทในช่วงล็อกดาวน์จะยังคงได้รับความนิยมสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
คนไทยเสิร์ชคำว่า “โรงแรม” และ “อาหารบุฟเฟต์” เยอะสุดหลังล็อกดาวน์
เริ่มจากการค้นหาคำว่า “โรงแรม” และ “อาหารบุฟเฟต์” ที่ในเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2563 มีจำนวนการค้นหาสูงกว่าช่วงล็อกดาวน์ (เดือนเมษายน-พฤษภาคม) ถึง 470% และ 232% ตามลำดับ
ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความต้องการที่สะสมมาจากช่วงล็อกดาวน์ (pent-up demand) การมีช่วงวันหยุดยาวพิเศษ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ
อย่างไรก็ดีความสนใจที่เพิ่มขึ้นผ่าน Google Search ไม่ได้หมายถึงการใช้จ่ายที่กลับมาในระดับเดียวกัน สะท้อนจากทั้งการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค และปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
กิจกรรมภายในบ้านช่วงกักตัว ยังคงได้รับความนิยม แม้หมดล็อกดาวน์
และถึงแม้กิจกรรมภายในบ้านจะได้รับความนิยมลดลงบ้าง เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังมีการล็อกดาวน์ แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงเดียวกับของปีก่อน ๆ โดยกิจกรรมยอดฮิตต่าง ๆ ภายในบ้านที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างสูง เช่น
1.การทำอาหารที่บ้าน สะท้อนจากคำค้นหาอุปกรณ์เครื่องครัวสูงสุดถึง 474% ในช่วงเดือนพฤษภาคม เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน
2.การออกกำลังกายในบ้าน จากคำค้นหาวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายใน Youtube เพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคมถึง 122% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน
3.การปลูกผักและต้นไม้ จากยอดค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับการปลูกผักและต้นไม้สูงสุดในเดือนมิถุนายนถึง 49% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลเดียวกัน
4.การทำงานที่บ้าน สะท้อนจากความสนใจอุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้ คีย์บอร์ดและเมาส์ เป็นต้น ซึ่งสูงสุดในเดือนมิถุนายนถึง 30% เทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน
และจากข้อมูลดัชนี Google Mobility หมวดที่พักอาศัยยังแสดงให้เห็นว่าคนยังคงอยู่ในบ้านมากกว่าช่วงก่อน COVID-19 และการค้นหาคำเกี่ยวกับเทรนด์ต่าง ๆ ข้างต้นก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง
ซึ่งบ่งชี้พฤติกรรมนิวนอร์มัล โดยอาจมาจากการที่หลายคนได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในสัดส่วนที่มากขึ้น ความนิยมสำหรับกิจกรรมในบ้านจึงมีมากกว่าช่วงก่อน COVID-19
COVID-19 ส่งแพลตฟอร์มออนไลน์ รับความนิยมสูงกว่าปกติ
ด้านแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า COVID-19 ได้ช่วยเร่งกระแสการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับบริการออนไลน์ต่าง ๆ ที่เร่งตัวจากแนวโน้มปกติอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ปริมาณการค้นหาสำหรับแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ลดลงจากช่วงล็อกดาวน์เช่นกัน
โดยเหตุผลน่าจะมาจากการค้นหาส่วนใหญ่เป็นแบบ one-time search กล่าวคือ หลังจากการค้นหาในครั้งแรก ๆ แล้ว ผู้ใช้อาจใช้งานจากแพลตฟอร์มโดยตรงในครั้งถัดไป ซึ่งจากข้อมูลของแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่า แม้ปริมาณการค้นหาบน Google จะลดน้อยลง แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงบนแพลตฟอร์ม ยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง เช่น ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2563 จำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม Lazada ประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
กิจกรรมช่วงล็อกดาวน์หลายประเภท จะกลายเป็นนิวนอร์มัลหลังจากนี้
การประเมินสถานการณ์หลังการบรรเทาของ COVID-19 ภายในประเทศ พบว่าหลายกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในช่วงการล็อกดาวน์อาจกลายเป็นนิวนอร์มัลหลังจากนี้
และบางพฤติกรรมของทั้งผู้บริโภค และภาคธุรกิจอาจไม่ได้กลับไปเหมือนเดิม ก่อนช่วง COVID-19 เช่น
– หลายบริษัทในเมืองได้มีการปรับตัว เป็นการทำงานทางไกล (remote work) มากขึ้น ทำให้มีการทำงานที่บ้านมากขึ้น ซึ่งได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการใช้ชีวิตในหลายด้านของคนจำนวนไม่น้อย ทั้งการใช้เวลา การใช้พื้นที่ และรูปแบบการใช้จ่าย
ซึ่งนับเป็นตัวเร่งการปรับตัวระยะยาวที่สำคัญของทั้งภาคธุรกิจ และผู้บริโภค โดยเฉพาะหากบริการออนไลน์นั้นสามารถเข้ามาทดแทนรูปแบบการใช้จ่ายเดิม ๆ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า ให้บริการที่ดีกว่าและเร็วกว่าได้
การขยายตัวของออนไลน์แพลตฟอร์มจึงมีแนวโน้มส่งผลกระทบถึงธุรกิจเดิมในอุตสาหกรรมเดียวกัน และแนวโน้มดังกล่าวนี้ มีนัยต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ โดยหากธุรกิจไม่ปรับตัวไปกับนิวนอร์มัล นอกจากจะต้องเผชิญกับผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอีกด้วย