การสำรวจความคิดเห็นของคนไทย ที่มีต่อนโยบายกระทรวงคมนาคม ซึ่งส่งเสริม และผลักดันให้มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล มาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ผ่านแอปพลิเคชัน ได้อย่างถูกกฎหมาย ของศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบดังนี้
คนไทยร้อยละ 92.3 เห็นด้วย “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย
โดยการสำรวจที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3,914 คน ทั้งประชาชนทั่วไป, คนขับรถยนต์ส่วนบุคคล ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอป และคนขับแท็กซี่
พบประชาชน ร้อยละ 92.3 เห็นด้วย กับการส่งเสริมนโยบาย “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย ขณะที่มีเพียงร้อยละ 7.7 เท่านั้น ที่ไม่เห็นด้วย
และกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม ยังเชื่อว่า การส่งเสริมให้บริการ “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย จะมีประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้
– ร้อยละ 78.1 ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค เนื่องจากใช้งานง่าย มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง
– ร้อยละ 77.7 ช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ในการเดินทาง เพราะมีข้อมูลคนขับ และทะเบียนรถเป็นหลักฐาน มีเทคโนโลยีติดตามการเดินทาง
– ร้อยละ 71.8 เกิดความโปร่งใส เนื่องจากมีการแจ้งค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้า
– ร้อยละ 71 เกิดช่องทางสร้างอาชีพเสริมให้คนไทย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิด-19
– ร้อยละ 69 ช่วยส่งเสริมให้นำทรัพย์สินที่มีอยู่ (เช่น รถยนต์) มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
– ร้อยละ 66.8 ช่วยลดปัญหา คนขับรถปฏิเสธผู้โดยสาร
คนไทยร้อยละ 83 อยากให้ “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย เกิดขึ้นภายในปีนี้
ด้านความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาล ในการผลักดัน “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย พบว่าประชาชน ร้อยละ 83 อยากให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ และร้อยละ 44.8 ของคนกลุ่มนี้ อยากให้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ภายในไตรมาสแรก
คนไทยร้อยละ 64.3 ไม่เห็นด้วยกับการจำกัด จำนวนรถยนต์ และคนขับ ที่จะมาให้บริการ
ส่วนประเด็นที่ภาครัฐ อาจมีการจำกัด จำนวนรถยนต์ หรือจำนวนคนขับ
ที่จะมาให้บริการ พบร้อยละ 64.3 ไม่เห็นด้วย
โดยร้อยละ 69.4 ของกลุ่มคนขับที่ไม่เห็นด้วย ให้เหตุผลว่า การจำกัดจำนวนรถ หรือคนขับ เป็นการปิดกั้นโอกาสทำมาหากินของคนไทย
ขณะที่ร้อยละ 22.1 มองว่าการกำหนดโควต้าผู้ให้บริการ อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น การซื้อขายใบอนุญาต หรือระบบมาเฟีย เหมือนการซื้อขายเสื้อวินมอเตอไซค์ เป็นต้น
สอดคล้องกับกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งมองว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น จะเป็นปัญหาหลัก สูงถึงร้อยละ 40.5
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อปัญหาเรื่องจำนวนรถ ที่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการถึงร้อยละ 23 ส่วนกลุ่มผู้ที่เห็นด้วยกับการกำหนดโควต้านั้น ร้อยละ 74.4 บอกว่าต้องการจำกัดจำนวนผู้ที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ ไม่ให้มีมากจนเกินไป ขณะที่ร้อยละ 11.2 ต้องการสงวนอาชีพนี้ ไว้ให้กับคนขับแท็กซี่แบบดั้งเดิมเท่านั้น
คนขับแท็กซี่ ร้อยละ 56.3 เห็นด้วย “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย
นอกจากประชาชนทั่วไป และคนขับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปแล้ว ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติม เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในกลุ่มคนขับแท็กซี่ จำนวน 2,436 คนด้วย พบว่าคนขับแท็กซี่ ร้อยละ 56.3 เห็นด้วยกับการ “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย ขณะที่ร้อยละ 43.7 ยังคงไม่เห็นด้วย
โดยประเด็นหลัก ที่คนขับแท็กซี่ มีความกังวลมากที่สุด คือ
– ร้อยละ 62.6 ต้นทุนการประกอบอาชีพ ซึ่งปัจจุบันคนขับรถแท็กซี่ มีต้นทุนในการให้บริการ สูงกว่าคนขับรถยนต์ส่วนบุคคล
– ร้อยละ 53.6 ข้อกำหนดการให้บริการของคนขับแท็กซี่ ซึ่งมีความเข้มงวด
มากกว่า
ด้านความคาดหวังที่มีต่อภาครัฐ ในการให้ความช่วยเหลือคนขับแท็กซี่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
– ร้อยละ 39.3 ต้องการให้ช่วยลดต้นทุนจากภาระที่ไม่จำเป็น เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เเละค่าบริการรายเดือนของระบบเเท็กซี่ ที่ภาครัฐกำหนดไว้ รวมทั้งช่วยควบคุมราคาเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมัน หรือก๊าซ NGV, LPG เป็นต้น
– ร้อยละ 33.5 คาดหวังให้มีการปรับราคามิเตอร์ให้สูงขึ้น เพื่อสอดคล้องกับต้นทุน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
– ร้อยละ 20.3 อยากให้ปรับลด หรือผ่อนผันข้อกำหนดต่าง ๆ ของรถแท็กซี่ เช่น การขยายอายุรถ, การอนุญาตให้ใช้รถต่ำกว่า 1600 ซีซี ได้ เป็นต้น
– ร้อยละ 4 อยากให้มีการกำหนดโควต้า ของผู้ที่จะนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ “เรียกรถผ่านแอป” ถูกกฎหมาย