Friday, December 8, 2023
More

    โควิด-19 ยังไม่นิ่ง ประชาชนร้อยละ 26.54 กังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดในช่วงสงกรานต์

    เผยผลสำรวจจากประชาชนเรื่อง “อยากเล่นน้ำสงกรานต์…กลัวเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่” โดย “นิด้าโพล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 16 มีนาคม 64 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาครวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0

    โควิด ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ส่งประชาชนร้อยละ 26 กังวลมากในช่วงสงกรานต์

    จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนถึงกรณี หากรัฐบาลอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ 2564 ได้พบว่า
    – ร้อยละ 43.73 ระบุว่า ไม่ควรอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ทุกพื้นที่
    – ร้อยละ 20.45 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์เฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 2
    -ร้อยละ 17.87 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ได้ทุกพื้นที่อย่าง New Normal เช่น สวมเฟซชิลด์ แว่นตากันน้ำ ชุดกันฝน
    – ร้อยละ 10.80 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ได้ทุกพื้นที่อย่างอิสระ
    – ร้อยละ 7.15 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์เฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 14 วันที่ผ่านมา


    สำหรับความคิดเห็นถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ถ้ารัฐบาลอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ 64 พบว่า
    – ร้อยละ 26.54 ระบุว่า กังวลมาก เพราะการกลับภูมิลำเนา มีการรวมตัวของประชาชน ทำให้ละเลยในการเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด–19 ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ

    – ร้อยละ 38.02 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะการเดินทางเข้ามาเล่นน้ำสงกรานต์จากหลายพื้นที่ทำให้ควบคุมไม่ทั่วถึง อาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับน้ำ ประชาชนบางกลุ่ม ยังละเลยในการป้องกันตนเอง ถึงแม้จะมีวัคซีนแต่ก็ยังไม่ปลอดภัย 100% และอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ในรอบ 3

    – ร้อยละ 18.78 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีการดูแลและป้องกันตนเองอย่างดี หลีกเลี่ยงไม่ไปเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ภาครัฐมีมาตรการควบคุมป้องกันที่ดี และไม่ได้อาศัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19

    – ร้อยละ 16.66 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ ภาครัฐมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ดี มั่นใจในการทำงานบุคลากรทางการเเพทย์ และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ออกมาเล่นน้ำสงกรานต์

    มากกว่าโควิดที่น่าเป็นห่วง อุบัติเหตุบนถนนยังเป็นอับดับต้นๆ ของความกังวลประชาชน

    สำหรับความคิดเห็นในเรื่องการป้องกันตนเองหากรัฐบาลอนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ 64 พบว่า
    – ร้อยละ 49.28 ระบุ สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า
    – ร้อยละ 35.36 ระบุ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร
    – ร้อยละ 31.94 ระบุ หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัว
    – ร้อยละ 26.16 ระบุ สวมเฟซชิลด์
    – ร้อยละ 23.12 ระบุ ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
    – ร้อยละ 19.16 ระบุ ห้ามประแป้ง
    – ร้อยละ 13.69 ระบุ หลีกเลี่ยงการให้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก
    – ร้อยละ 10.80 ระบุ ห้ามสาดน้ำ
    – ร้อยละ 10.65 ระบุ สวมชุดกันฝน
    – ร้อยละ 10.27 ระบุ สวมแว่นตากันน้ำ
    – ร้อยละ 0.15 ระบุ วัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่เล่นน้ำ

    ส่วนเรื่องที่ประชาชนกังวลมากที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 พบว่า
    – ร้อยละ 43.95 ระบุ อุบัติเหตุทางถนน
    – ร้อยละ 38.17 ระบุ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ที่มากขึ้น
    – ร้อยละ 15.29 ระบุ การท่องเที่ยวที่ไม่คึกคัก เศรษฐกิจซบเซา
    – ร้อยละ 2.59 ระบุ การเกิดอาชญากรรม

    สำหรับความคิดเห็นในเรื่องความสำคัญระหว่างการเล่นน้ำสงกรานต์ 2564 กับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ส่วนใหญ่พบว่า
    – ร้อยละ 82.28 ระบุว่า ยอมหยุดเล่นน้ำสงกรานต์ 2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19
    – ร้อยละ 15.29 ระบุว่า ยอมเสี่ยง กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 เพื่อให้ได้เล่นน้ำสงกรานต์ 2564
    – ร้อยละ 2.43 ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าควรเลือกอะไรก่อนดี