เผยโบนัสมนุษย์ออฟฟิศ ประจำปี 2560 พบว่าธุรกิจยานยนต์มีอัตราการจ่ายโบนัสมากที่สุด เฉลี่ย 2.33 เดือน โดยนิยมนำโบนัสไปเก็บออม-ลงทุน ขณะที่ภาพรวมตลาดงานยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร คาดว่าปี 61 ส่อแววเผชิญปัญหาการจ้างงานถดถอย – ว่างงานสูงขึ้น
จ่ายโบนัสสูงสุด 2.33 เดือน
จากการเผยผลสำรวจอัตราโบนัสของพนักงานไทย ประจำปี 2560 พบว่าปัจุบันรูปแบบการให้โบนัสพนักงานแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือแบบการันตี และแบบพิจารณาตามผลงาน (ทั้งผลประกอบการบริษัท และผลงานของพนักงาน) โดยกลุ่มธุรกิจที่จ่ายเงินโบนัสให้พนักงานแบบการันตีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ ธุรกิจยานยนต์ ที่ยังคงรักษาแชมป์เอาไว้ได้จากปีที่แล้ว โดยมีอัตราการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 2.33 เดือน, อันดับ 2 ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า และธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พุ่งขึ้นมาจากที่ไม่เคยติด 5 อันดับแรก โดยมีการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.31 เดือน, อันดับ 3 ธุรกิจบริการด้านการเงิน จ่าย 1.16 เดือน, อันดับ 4 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจจัดเลี้ยง จ่าย 0.89 เดือน และอันดับ 5 ธุรกิจไอที จ่าย 0.86 เดือน
ขณะที่อัตราการจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงาน อันดับ 1 ธุรกิจยานยนต์ ยังคงครองแชมป์จากปีที่แล้ว โดยมีอัตราการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 2.14 เดือน, อันดับ 2 ธุรกิจด้านการเงิน จ่าย 1.96 เดือน, อันดับ 3 ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า และธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จ่าย 1.26 เดือน, อันดับ 4 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจจัดเลี้ยง จ่าย 1.11 เดือน และอันดับ 5 ธุรกิจไอที จ่าย 0.92 เดือน
สำหรับช่วงเวลาที่มีการจ่ายโบนัส พบว่าเป็นช่วงเดือนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในเดือนธันวาคม มากที่สุดร้อยละ 39 รองลงมาร้อยละ 14 คือเดือนมกราคม, ร้อยละ 12 เดือนกุมภาพันธ์ ที่มีช่วงเทศกาลตรุษจีน, ร้อยละ 10 เดือนมีนาคม และร้อยละ 8 เดือนเมษายน แต่เมื่อมองภาพรวมการจ่ายโบนัสทั้ง 2 แบบ ในปี 2560 พบว่าลดลงจากเมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะการจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานสูงสุดลดลงเกินกว่าครึ่ง อันเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้บริษัทห้างร้านมีผลประกอบการลดลง
มนุษย์ออฟฟิศนิยมนำโบนัสไปเก็บออม-ลงทุน
เมื่อสำรวจการจ่ายโบนัสตามระดับตำแหน่งงาน พบว่าโบนัสเฉลี่ยของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ได้รับโบนัสแบบการันตีอยู่ที่ 1.52 เดือน แบบพิจารณาตามผลงาน อยู่ที่ 2.17 เดือน, พนักงานระดับผู้จัดการ แบบการันตี 1.53 เดือน แบบพิจารณาตามผลงาน 2.09 เดือน, พนักงานระดับหัวหน้างาน ได้รับโบนัสแบบการันตี 1.48 เดือน แบบพิจารณาตามผลงาน 2.04 เดือน และพนักงานระดับเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญ/ช่างเทคนิค แบบการันตี 1.35 เดือน และแบบพิจารณาตามผลงาน 1.98 เดือน
สำหรับโบนัสที่มนุษย์เงินเดือนได้รับมา ร้อยละ 35 นิยมเก็บไว้เป็นเงินออม, ร้อยละ 23 นำไปลงทุน เช่น ซื้อประกันภัย ลงทุนในหุ้น อสังหาริมทรัพย์ และพันธบัตร เป็นต้น, ร้อยละ 21 นำไปชำระหนี้และบัตรเครดิต และร้อยละ 10 นำไปซื้อของขวัญให้ตัวเองและคนสำคัญ นอกจากนั้นยังพบว่ามีการนำไปใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว เก็บไว้เผื่อฉุกเฉิน และเป็นทุนการศึกษา อีกด้วย
เมื่อลงลึกพฤติกรรมการใช้เงินแต่ละเจนเนอเรชัน พบว่า Baby Boomer (50+ ปี), Gen X (34-49 ปี) และ Gen Y (26-33 ปี) ส่วนใหญ่เลือกเก็บโบนัสไว้เป็นเงินออมเป็นอันดับแรก ตามด้วยการนำไปลงทุน ส่วน Gen Z (18-25 ปี) เลือกนำโบนัสไปลงทุนเป็นอันดับแรก ตามด้วยเก็บไว้เป็นเงินออม สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังเร่งวางรากฐานความมั่นคงทางการเงิน โดยมองเห็นความสำคัญของผลตอบแทนการลงทุนที่ก้าวกระโดดมากขึ้น สาเหตุมาจากการติดตามความเคลื่อนไหวของสังคม ข่าวสารด้านเศรษฐกิจ หาความรู้ด้านการเงินจากข่าวสาร และชื่นชอบการบริหารจัดการเงินให้มีผลตอบแทนงอกเงย เพราะมีทัศนคติต่อการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้เร็วที่สุด
จะอยู่หรือไปโบนัสเป็นดัชนีชี้วัด
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการร้อยละ 46 ยังคงตระหนักว่าโบนัสสามารถวัดผลการตัดสินใจที่จะอยู่ทำงานกับองค์กรต่อไปหรือไม่ของพนักงาน โดยที่ร้อยละ 47 เชื่อว่าโบนัสสามารถดึงดูดผู้ทำงานได้ ส่วนในมุมมองของพนักงาน มีความพอใจกับโบนัสที่ได้รับแม้จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบจากปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 58 พนักงานกำลังมองหางานใหม่อยู่ในขณะนี้ และร้อยละ 41 พนักงานมีความคิดที่จะลาออกจากงานอยู่บ่อยๆ เมื่อเจอความยากลำบากในการทำงานแต่ละวัน โดยร้อยละ 71 พนักงานเต็มใจลาออก หากบริษัทอื่นให้โอกาสในการทำงานที่ดีกว่าเดิม ทั้งในแง่ของการเติบโตในหน้าที่ ความท้าทาย รวมถึงการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
นอกจากนั้นผู้ประกอบการ ร้อยละ 70 และพนักงาน ร้อยละ 49 มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า โบนัสที่พิจารณาจ่ายตามผลงาน เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นผลสัมฤทธิ์ของความพยายามที่พนักงานทุ่มเทให้กับการทำงาน โดยปัจจุบันผู้ประกอบการมีทิศทางการจ่ายโบนัสแบบพิจารณาตามผลงานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะช่วยให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีต่อไป
5 สายงานที่ต้องการสูงในปี 61
ด้าน คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงภาพรวมในแรงงานไทยในปัจจุบัน โดยระบุว่า สายงานที่เป็นที่ต้องการสูง 5 สายงานแรก ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์, การแพทย์, วิศวกรรม, บัญชี, และไอที สืบเนื่องมาจากผลกระทบจากภาคการศึกษา ที่มีผู้เรียนในสาขาวิชาดังกล่าวจำนวนลดลง ทำให้ไม่สามารถป้อนเข้าสู่ตลาดงานได้เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ สายงานดิจิทัล ยังเป็นอีกสายงานที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการแข่งขันสูง ด้วยปัจจัยจำนวนคนที่ยังมีไม่เพียงพอ ทั้งในแง่ของปริมาณและความสามารถ
โดยคุณอันธิกา ลิมปิอนันต์ชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ได้ขยายภาพให้เห็นถึงตลาดงานยุคดิจิทัล ซึ่งมีสายงานเกิดขึ้นใหม่มากมาย และมีความต้องการสูง เช่น งานการตลาดดิจิทัล, งานพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น, งานบริการจัดการคอนเทนต์, งานด้านกฎหมายดิจิทัล งานแอนิเมชั่นในอุตสาหกรรมเกมและบันเทิง ฯลฯ ซึ่งตลาดงานยังคงขาดแคลนคนในสายงานดังกล่าวประมาณ ร้อยละ 85 ซึ่งเป็นสายงานที่สร้างรายได้มากว่าสายงานอื่นทั่วไปกว่าร้อยละ 61
คาดตลาดงานปี 61 ยังไม่ฟื้นตัว
จากรายงานเรื่อง “หลายปีกับการมีงานทำที่ถดถอยและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ตลาดแรงงานปีหน้าจะเป็นเช่นไร?” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การจ้างงานในประเทศไทย มีการผันผวนไปตามฤดูกาลการจ้างงาน โดยช่วงกลางปี (มิถุนายน-สิงหาคม) ของทุกปี คือช่วงเวลาที่มีการจ้างงานสูงสุด และจะไปต่ำที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี
โดยภาพรวมของตลาดงานในปี 2560 มีอัตราการจ้างงานลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2559 โดยเฉพาะช่วงหลังของปี และต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2556 โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีผู้มีงานทำประมาณ 36.5 ล้านคน เปรียบเทียบกับปี 2556 จำนวนประมาณ 38 ล้านคนและปี 2559 จำนวนประมาณ 3.7 ล้านคน ตามลำดับ ส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงกว่าปี 2559 โดยตัวเลขผู้ว่างงานในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แตะอยู่ที่ 5 แสนคน
โดย ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัย การวิจัยด้านพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ คาดว่าในปี 2561 จะเป็นปีที่สดใสของตลาดแรงงานหรือไม่นั้น คงเป็นไปได้ยาก ถ้ายังจะพัฒนาเศรษฐกิจเหมือนก่อนปี 2556 แม้รัฐบาลมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถเห็นผลได้ในทันที เมื่อหันมาหามองภาคการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ก็ยังเผชิญปัญหาหลายประการ ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะปรับโครงสร้างสู่ยุคดิจิทัล ไทยแลนด์ 4.0 ถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนและร่วมทุนกับต่างประเทศมายาวนาน มากกว่า 30 ปี แต่กลับไม่ได้ดูดซับเอานวัตกรรมจากการลงทุนของต่างชาติ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่ง FDI ใหม่เข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเม็ดเงินเข้ามามีน้อยมาก แต่ยังมีหวังกับการพยายามจะเร่งพัฒนาการค้าชายแดนด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ Eastern Economics Corridor (EEC) โดยคาดหวังว่าจะเป็น New Trend ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาให้มี นวัตกรรมเป็นของตนเอง รวมถึงควรต้องมีการปรับเงื่อนไขด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาประเทศให้มั่งคั่งและยั่งยืน
โดยรวมในปี 2561 ก็อาจจะยังไม่สามารถเติบโตในระดับที่สูง แต่น่าจะดีกว่าปี 2560 ซึ่ง TDRI คาดประมาณการเติบโตของจีดีพี จะอยู่ระหว่าง 3.5-4.5 %
เมื่อเศรษฐกิจภาพรวมยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเร็ววัน ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้คนหางานเกิดการแข่งขันสูง ซึ่งต้องเก็บไปเป็นการบ้านอย่างหนักในการฉายความสามารถของตนให้ผู้ประกอบการได้เห็น ส่วนใครที่เก้าอี้ที่ทำงานยังมั่นคง และได้โบนัสในปีนี้ คงต้องวางแพลนดีๆ เพราะอนาคตอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าพนักงานย่อมให้ความสำคัญกับผลตอบแทนของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนและโบนัสที่น่าพึงพอใจ โดยยังคงให้ความสำคัญกับงานที่จะสร้างประสบการณ์และท้าทายความสามารถ ผู้ประกอบการควรตระหนักว่านอกจากการจ่ายค่าตอบแทนและโบนัสที่เป็นธรรมแล้ว การส่งเสริมให้พนักงานเติบโตในหน้าที่การงานเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง เพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร และดึงดูดคนมาร่วมงานด้วย ส่วนพนักงานควรหมั่นพัฒนาทักษะ และความสามารถในการทำงาน รวมไปถึงการประเมินศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อเปิดโอกาสให้กับการเติบโตในสายอาชีพในอนาคต”
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ
“ถ้าให้คาดการณ์ว่าในปี 2561จะเป็นปีที่สดใสของตลาดแรงงานหรือไม่ ขอตอบได้เลยว่าเป็นไปได้ยาก ถ้ายังพัฒนาเศรษฐกิจเหมือนก่อนปี 2556 แต่ที่จริงแล้วรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว ทั้งการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่ง และระบบโลจิสติกส์เสียใหม่ เป็นต้น ซึ่งยังไม่มีรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยทำมาก่อน เพียงแต่ยังไม่เห็นผลในทันทีในขณะนี้เท่านั้น”
[English]
Top-5 Businesses with Biggest Bonuses in 2017
The latest survey of 2017 bonus plans in Thailand showed there have been two active types of payment plans — a guarantee plan and a performance-based plan.
This year, the business that paid the highest guaranteed bonuses was the automotive business, with an average bonus of 2.33 months, followed by the electronics business, which has never made it to the top-5 list before and paid an average bonus of 1.31 months. Other big bonus providers on the 2017 list included the financial business, the food and beverage business and the catering business, which paid an average of 1.16 months, 0.89 month and 0.86 month, respectively.
For those with performance-based bonus plans, the automotive industry continues holding the top place with an average bonus of 2.14 months. The financial business held the second place with an average bonus of 1.96 months, followed by the electrical appliance and electronics business, the food and beverage as well as the catering business, and the IT business, which paid 1.26 months, 1.11 months and 0.92 month, respectively.
The survey also found that 35% of salary earners chose to keep their bonuses as savings, while 23% of them said they would make investment, 21% would use the money to settle debt, 10% would buy presents for themselves and their loved ones, and the rest would spend on traveling or save for emergency use or educational purposes.
However, Thailand’s labor market looks unlikely to enjoy a good time in 2018 yet as long as the local economic development remains unchanged, although the growth rate may be better than this year.