Tuesday, May 23, 2023
More

    ผลวิจัยเผย คนกรุงเครียดกว่าคนตจว. 2 เท่า

    แม้ว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองน่าเที่ยวระดับโลก แต่จากสภาพปัญหาที่คนกรุงต้องเผชิญอยู่ทุกวันกลับเร้าให้เกิดความเครียด ซึ่งพบว่ามีมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศเกือบ 2 เท่าตัว ด้านกรมสุขภาพจิตเร่งป้องกันปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงการป้องกันการฆ่าตัวตาย

    คนกรุงเทพฯ 1 ใน 3 มีความสุขต่ำ
    จากข้อมูลสำรวจสุขภาพใจคือความสุขและความเครียดของประชาชนวัยทำงานอายุ 15-60 ปี ในกรุงเทพมหานคร ปี 2561 โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. กรมสุขภาพจิต พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีประชาชนอาศัยประมาณ 10 ล้านคน ส่วนใหญ่ 67.89% มีความสุขอยู่ในระดับดี แต่ขณะเดียวกันพบว่าเกือบ 1 ใน 3 ของคนกรุงเทพฯ หรือกว่า 32.11% มีความสุขอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ คือต่ำกว่า 27 คะแนนลงมา โดยความสุขตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมสุขภาพจิต มีคะแนนเต็ม 45 คะแนน หากเปรียบเทียบกับผลสำรวจในระดับประเทศ เมื่อปี 2558 พบว่าคนกรุงเทพฯ มีความสุขน้อยกว่าภาพรวมประเทศที่ได้ 83.6% และมีค่าความสุขในระดับที่ต่ำกว่าปกติ มากกว่าภาพรวมประเทศที่มี 16.4% หรือเกือบ 2 เท่า 


    เศรษฐกิจ-ปัญหาการเงิน เรื่องที่คนกรุงเครียดมากที่สุด
    ขณะเดียวกันจากผลสำรวจครั้งนี้ พบว่าประเด็นที่ทำให้คนกรุงเทพฯ เกิดความ เครียดมากที่สุดอันดับ 1 คือเรื่องเศรษฐกิจ 30.82% โดยมีสาเหตุคือปัญหาการเงิน รายได้ไม่พอ สำหรับผลที่เกิดจากความเครียด 1 ใน 4 มีปัญหาการนอนเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นประจำ เช่น นอนไม่หลับหรือนอนมาก พบในผู้หญิง 26% และผู้ชาย 15% (ดูในอินโฟกราฟิกเพิ่มเติม)


    น.ต. น.พ. บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าจะขยับอันดับความสุขของคนไทยเป็นอันดับ 26 ในปี 2579 โดยเน้นหนักที่การ   ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่ ความสุข โรคซึมเศร้า ความเครียด การฆ่าตัวตาย และเรื่องการเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อสร้างพลังใจให้เข้มแข็ง จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงต่างๆ ในสังคม โดยมีศูนย์สุขภาพจิต 13 เขตสุขภาพรวมทั้ง กทม. เป็นแกนหลักในการประสานการดำเนินงาน โดยเฉพาะในวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด มีประมาณ 39 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ ที่เป็นกำลังหลักสร้างเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศชาติ

    เร่งร่วมมือป้องการฆ่าตัวตาย
    ด้วยบริบทสังคมที่กระตุ้นเร้าให้เกิดความเครียดซึ่งกระทบกับสุขภาพกายและใจ อีกภัยเงียบที่อยู่รอบตัวคนเมืองคือเหตุฆ่าตัวตาย โดยจากข้อมูลของ รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ผู้ดูแลโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายในไทยตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเฝ้าระวังติดตามอัตราฆ่าตัวตายของประเทศไทยไม่ให้เข้าสู่โซนอันตราย นั่่นคืออัตราฆ่าตัวตายเท่ากับหรือมากกว่า 15 ต่อประชากรแสนคน ข้อมูลล่าสุดปี 2560 อยู่ที่ 6.03 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ปกติ แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรต้องช่วยกันทำให้สถิติดังกล่าวลดลง

    ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการฆ่าตัวตายนับเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของการเสียชีวิตในคนอายุ 15-29 ปี ซึ่งแต่ละปีมีการสูญเสียเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกถึง 8 แสนคน ซึ่งพบว่าหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากโรคซึมเศร้า ที่มีผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน โดยที่กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าในปี 2561 มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 1.19 ล้านคน แต่มีผู้ป่วยเพียง 37.41% เข้ารับการรักษา ขณะที่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ ยังมองว่าไม่ใช่โรค จึงไม่เข้ารักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากความร้ายแรงของอาการถึงขั้นคร่าชีวิตผู้ที่เป็นได้

    แนะ4วิธีการพูดคุยกับผู้คิดฆ่าตัวตาย
    หนึ่งช่องทางในการคลายความทุกข์ใจ คือการโทรศัพท์ปรับทุกข์ ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ผ่านสายด่วน 02 713 6793 และ 02 713 6791 (Eng.) ที่เปิดรับฟังทุกวันในเวลา 12.00 – 22.00 น. ซึ่งในปี 2560 มีผู้โทรเข้ามาปรับทุกข์กว่า 8,000 ราย โดยเป็นชาย 48% หญิง 52% ซึ่งเป็นผู้โทรรายใหม่ 13% และรายเดิม 87% ขณะที่อัตราเสี่ยงการฆ่าตัวตาย คิดแต่ไม่มีแผน 20% เคยทำ 8% คิดและวางแผนแน่นอน 2% ส่วนอีก 70% ยังไม่มีความคิด

    ผศ. พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย เผยถึงเรื่องราวที่มีผู้โทรมาขอปรับทุกข์ส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนรอบข้าง คนในครอบครัวและคนรัก ผู้สูงอายุ ปัญหาเศรษฐกิจ โรคซึมเศร้า ฯลฯ ซึ่งคนส่วนใหญ่เวลาคนคิดฆ่าตัวตายเพราะรู้สึกตัวเองไร้ค่า ชีวิตไม่มีใคร และไม่มีทางออก โดยแนะนำวิธีการพูดคุยกับบุคคลที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย ด้วย 4 เทคนิค ได้แก่ 1. การรับฟังด้วยใจ คนที่ถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย แต่มาขอคำปรึกษาแสดงว่าข้างในต้องการการช่วยเหลือ การรับฟังจะช่วยให้ผู้โทรรู้สึกว่ายังมีคนที่อยู่เคียงข้างที่เข้าใจความรู้สึก 2. ถามคำถามปลายเปิด ฟังแล้วควรมีการถามคำถามให้อีกฝ่ายได้เล่าระบายอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ขณะนี้รู้สึกอย่างไร เรื่องราวที่ทำให้ไม่สบายใจเป็นอย่างไรบ้าง 3. หยุดเงียบบ้าง เพื่อให้อีกฝ่ายได้ทบทวนเรื่องราว 4. มีการสรุปประเด็นและช่วยกันหาทางออก แทนการแนะนำ ซึ่งตามปกติพูดคุยสัก 45-60 นาที ความทุกข์ใจก็จะค่อยๆ เบาลง 

    สิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยคลายความเครียดคือครอบครัว และคนรอบข้าง ซึ่งการพูดคุยรับฟังปัญหาชีวิตเป็นวิธีการเบื้องต้นในการคลี่คลายความไม่สบายใจที่มีให้เบาบางลงได้ 
    __________
    นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา  – ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. 
    “ในปีงบประมาณ 2562 นี้ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 จะเร่งบูรณาการการทำงานร่วมกับ กทม. ทั้ง 50 เขต และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อย่างใกล้ชิด ในการพัฒนาความรู้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขใน กทม. และขยายผลถึงผู้นำชุมชนต่างๆ ด้วย รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการข้อมูลความรู้สุขภาพจิตที่ง่ายขึ้นของประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งสภาพที่อยู่อาศัยมีหลายรูปแบบ และเหมาะกับสภาพวิถีชีวิต เพื่อดูแลส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต”