Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    กรุงเทพฯ ฮอตไม่หยุด ติดท็อป 10 เมืองจุดหมายปลายทางด้านอาหาร-ชอปปิงโลก

    กรุงเทพฯ​ ยังถูกจัดเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรั้ง 10 อันดับแรกของเมืองจุดหมายปลายทางด้านอาหารและชอปปิง ขณะที่ไทยยังถูกจัดให้มีที่พักดีเยี่ยมของโลกด้วย ซึ่งคาดว่าปี 2562 จะมี นทท. ต่างชาติหลั่งไหลมาไทย 39 ล้านคน สร้างรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท

    ครองที่ 3 เมืองจุดปลายทางด้านอาหาร 
    เป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกครั้งที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก จากผลสำรวจสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางโลก ด้านการใช้จ่ายทางด้านอาหารและการชอปปิง (GDCI: Indulgences) ในปี 2561 ของมาสเตอร์การ์ด โดยรั้งอยู่ในอันดับ 3 ของเมืองที่มีการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ซึ่งกรุงเทพฯ​ ขึ้นชื่อในเรื่องอาหารและวัฒนธรรม จึงทำให้นักท่องเที่ยวมีการจับจ่ายไปราว 108,000 ล้านบาท (ประมาณ​ 3,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็น 20.6% ของมูลค่าการจับจ่ายทั้งหมดประมาณ 5.23 หมื่นล้านบาท (16,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองจากอันดับ 1 เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีการใช้จ่ายราว 190,000 ล้านบาท (5,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเมืองปัลมาแห่งเกาะมายอร์กาในประเทศสเปน ที่ครองอันดับ 2 ด้วยจำนวนเงิน 121,000 ล้านบาท (3,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

    ขณะที่ รศ.ดร. สุรชัย จิวเจริญ ได้เผยถึงมุมมองต่อการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยว่าความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวเกิดจากความคุ้มค่าของเงินที่จ่าย ซึ่งทำให้เกิดการจดจำ บอกต่อและกลับมาใหม่ โดยความประทับใจสร้างได้การบริการที่ดี ความเป็นมิตรและน้ำใจไมตรี อาหารและวิถีการกินที่โดดเด่นของไทย ที่พักได้มาตรฐานเหมาะสมกับราคา ของฝากหลากหลายมีเอกลักษณ์ ค่าใช้จ่ายโดยรวมไม่แพง ขณะเดียวกันไทยมีจุดแข็งในเส้นทางการกินตามวิถีไทย จากที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้มีความหลากหลายของวัตถุดิบ รสชาติ มีวิธีทางวัฒนธรรมการกินทั้งตำรับราชสำนัก ชาวบ้าน อีกทั้งยังมีอาหารภาคต่างๆ ซึ่งทั้งหมดทำให้อาหารไทยมีเสน่ห์


    รั้งที่ 6 สุดยอดเมืองชอปปิงโลก
    ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นมหานครที่มีชื่อเสียงทางด้านการชอปปิงระดับโลก ยืนยันได้จากการถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของเมืองที่มีการใช้จ่ายด้านการชอปปิงมากที่สุด โดยมูลค่าที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาใช้จ่ายสูงถึง 120,000 ล้านบาท (3,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งคิดเป็น 23% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

    โดย เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ยังครองแชมป์เมืองที่มีการใช้จ่ายด้านการชอปปิงพ่วงด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวใช้จ่ายกว่า 285,000 ล้านบาท (8,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นักท่องเที่ยวใช้เงินจำนวนมากไปกับการชอปปิงในเมืองดูไบ รวมถึงลอนดอน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสื้อผ้า ของฝากหรือสินค้าอื่นๆ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนลอนดอน โซล และโจฮันเนสเบิร์กนั้นอาจจะต้องเตรียมกระเป๋าใบใหญ่ขึ้น เนื่องจากใช้จ่ายไปกับการซื้อสินค้าต่างๆ สูงกว่า 40% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด

    สำหรับผลสำรวจสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ด ด้านการใช้จ่ายทางด้านอาหารและการชอปปิง (GDCI: Indulgences) ของนักท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ไม่ได้เผยแค่ตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงนัยยะสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายดังกล่าวอีกด้วย โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผลสำรวจเมืองสุดยอดเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางของโลก (Mastercard Global Destination Cities Index – GDCI) ของมาสเตอร์การ์ด ที่จะทำการจัดอันดับเมืองที่นักท่องเที่ยวเข้ามาพักแรม และจับจ่ายใช้สอยในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2561 กรุงเทพฯ คือเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 โดยมี จ.ภูเก็ต และเมืองพัทยา ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก ในอันดับที่ 12 และ 18 ตามลำดับ ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีเมืองติดอันดับสูงสุด 20 อันดับแรกถึง 3 เมือง

    ไทย ติดท็อป 20 ที่พักดีเยี่ยมระดับโลก
    อีกทั้งจากการประกาศผลรางวัล Guest Review Award ประจำปี 2561 ของ Booking.com เพื่อยกย่องที่พักซึ่งมอบประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมให้นักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก จาก 219 ประเทศและเขตการปกครอง ด้วยจำนวนที่พักที่ได้รับรางวัล 9,251 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2,156 แห่ง โดย อิตาลี ประเทศที่มีจำนวนที่พักได้รับรางวัลมากที่สุด จำนวน 106,513 แห่ง

    ขณะเดียวกันเป็นปีแรกที่ได้มีการ เปิดเผยจุดหมายการเดินทางที่ทุ่มเทให้กับงานบริการ โดยอ้างอิงจากการรีวิวของผู้เข้าพัก ซึ่งประเทศที่ได้ชื่อว่ารักงานบริการที่สุดคือ ออสเตรีย, สาธารณรัฐเช็ก, โปแลนด์, นิวซีแลนด์, ไต้หวัน, โรมาเนีย, ฮังการี, ไอร์แลนด์, เซอร์เบีย และกรีซ

    สำหรับประเทศไทย จุดหมายการเดินทางที่ได้ชื่อว่ารักงานบริการมากที่สุด ได้แก่ จ.สุโขทัย, เขาหลัก จ.พังงา, หาดในยาง จ.ภูเก็ต, อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน, จ.พระนคร ศรีอยุธยา, เกาะลันตา จ.กระบี่, ตัวเมือง จ.กาญจนบุรี, จ. เชียงราย, เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และตัวเมือง จ.กระบี่

    ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้เดินทางจากทั่วโลกว่า คนท้องถิ่นที่เป็นมิตรและมีความน่าสนใจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้พิจารณาในการเลือกจุดหมายการเดินทางครั้งต่อไป สำหรับประเภทที่พักทั่วโลกซึ่งมีใจรักงานบริการมากที่สุด พบว่าไม่ใช่โรงแรม ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าผู้เดินทางประทับใจกับประสบการณ์เข้าพักแปลกใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในที่พักแบบริยาด, เบดแอนด์เบรกฟาสต์ (บีแอนด์บี), ฟาร์มสเตย์,  เกสต์เฮาส์, เซอร์วิสอพาร์ตเมนเต์ และเรียวกัง

    นักท่องเที่ยวนิยมพักอพาร์ตเมนต์
    นอกจากนั้นยังพบว่า เป็นปีที่ 2 ซึ่งประเภทที่พักที่ได้รับรางวัลมากที่สุด 4 ใน 5 อันดับแรกมาจากกลุ่มที่ไม่ใช่โรงแรม โดย อพาร์ตเมนต์ เป็นประเภทที่พักซึ่งได้รับรางวัลมากที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 2 จำนวน 269,649 แห่ง คิดเป็นจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 36% จากที่พักทั่วโลกที่ได้รับรางวัลในปี 2561 ขณะที่โรงแรม มีจำนวน 148,913 แห่ง รองลงมาคือ เกสต์เฮาส์ 78,574 แห่ง, บีแอนด์บี 66,697 แห่ง และบ้านตากอากาศ 56,303 แห่ง ตามลำดับ

    ที่น่าสนใจคือ 3 ใน 4 ของที่พักทั้งหมดที่ได้รับรางวัลซึ่งคิดเป็น 73% นั้นเป็นบ้านพัก และที่พักแปลกใหม่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือพัก, กระท่อมน้ำแข็ง, โฮมสเตย์ และคันทรีเฮาส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความประทับใจและความสนใจของผู้เดินทางที่มีอย่างต่อเนื่องในการไปสัมผัสที่พักแปลกใหม่หลากหลายประเภท

    ขณะเดียวกันยังพบว่า ในผู้เดินทางชาวไทย 500 คน มีมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 41% อยากพักในที่พักให้เช่า (บ้านพักหรืออพาร์ตเมนต์) มากกว่าโรงแรม นอกจากนี้ 54% ยังต้องการพักในที่พักประเภทที่ไม่เคยเข้าพักมาก่อน สำหรับทริปในปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ยังคงแข็งแกร่งของผู้ใช้บริการในส่วนนี้

    คาดปี 62 นทท. ต่างชาติแตะ 39 ล้านคน 
    ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาคาดการณ์ถึงตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย ปี 2562 ว่าจะมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องจากปี 2561 โดยในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมามีการฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว รวมถึงภาครัฐได้มีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม (Visa on Arrival) สำหรับนักท่องเที่ยว 21 ประเทศ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 ส่งผลให้รายได้ท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่าประมาณ 2.01 ล้านล้านบาท

    ซึ่งจากการที่ภาครัฐยังคงเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาคเอกชนยังมีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่เป็นแลนด์มาร์กของประเทศ รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก จึงมีส่วนช่วยให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ทั้งนี้ ทิศทางการเติบโตของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2562 ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยปัจจัยภายใน คือ เรื่องภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวไทย เช่น ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติถูกทำลาย และความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ส่วนปัจจัยภายนอก มาจากเศรษฐกิจในหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวรวมทั้งการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวน อาจส่งผลกระทบต่อแผนการเดินทางท่องเที่ยว

    คาดว่าในปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจะมีจำนวน 39.00 – 39.80 ล้านคน เติบโต 2.1-4.1% จากปี 2561 สำหรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่ามีมูลค่าประมาณ 2.16 – 2.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9-8.9%

    จับทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติ
    นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวจีน แม้คาดว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวที่ชัดเจนและต่อเนื่องน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจและค่าเงินหยวนของจีน รวมถึงการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม เป็นต้น ส่วนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้ อย่าง อินเดีย ยังเติบโตได้ดี แต่หลายประเทศก็ให้ความสนใจในการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวจากอินเดียเช่นเดียวกัน ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับการ ท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น

    ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรปจากเยอรมนี และฝรั่งเศส ยังมีแนวโน้มที่ดี สำหรับรัสเซีย ต้องติดตามประเด็นค่าเงินรูเบิล รวมถึง และต้องติดตามสถานการณ์ Brexit ที่อาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักร

    ส่วนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ ในกลุ่มตะวันออกกลาง หลายประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออก กลางเลือกเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้มากขึ้น ยกเว้นอิสราเอล สำหรับนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ รวมถึงแอฟริกาใต้ ยังมีแนวโน้มดีอยู่
    __________
    มร.โดนัลด์ ออง – ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ มาสเตอร์การ์ด
    “การรับประทานอาหารและการชอปปิ้งถือเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกใช้เพื่อเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีและประวัติศาสตร์ ในส่วนมาสเตอร์การ์ดได้สร้างเสริมประสบการณ์ในเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวผ่านโปรแกรม Priceless Cities รวมไปถึงกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนในโรงแรมบูทีค หรือลองชิมอาหารขึ้นชื่อของไทย ซึ่งเชื่อว่าการเปิดประสบการณ์สู่สิ่งใหม่ๆ จะสร้างความทรงจำที่น่าประทับใจให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

    Bangkok Still Ranked High in Global List of Popular Destinations
    Bangkok remained one of the world’s top-10 destinations for dining and shopping, according to the 2018 MasterCard Global Destination Cities Index (GDCI).

    In the latest report, the Thai capital was ranked third on the list of the Top Global Cities for Dining after tourists spent around 108 billion baht (approx. 3.38 billion dollars), or about 20.6% of total spending, on food.  Bangkok trailed behind Dubai (1st), where spending on dining was approximately 190 billion baht (approx. 5.94 billion dollars), and Palma de Mallorca in Spain (2nd), where spending totaled 121 billion baht (approx. 3.78 billion).

    In terms of shopping, Bangkok was also ranked sixth, with spending of 120 billion baht (approx. 3.75 billion dollars) or around 23% of total spending.  The top-ranked shopping destination on the Top Global Cities for Shopping in 2018 was the United Arab Emirates, where spending was over 285 billion baht (approx. 8.91 billion).

    In addition to Bangkok, which has been on the top list for three consecutive years, Phuket and Pattaya were also in the top-20 list in 2018 (12th and 18th, respectively).

    Meanwhile, the 2018 Guest Review Award by Booking.com showed Thailand in the top-20 list of 219 countries and states, with 9,251 lodging businesses awarded in the past year, compared with 2,156 awardees in the preceding year.  In 2018, Italy took the top spot with 106,513 awardees.

    In 2019, it is projected that a total of 39-39.8 million foreign visitors will travel to Thailand, a 2.1%-4.1% year-on-year increase, with total foreign visitor spending estimated at 2.16-2.20 trillion baht or a 6.9%-8.9% on-year rise.