สถานการณ์ป่าไม้ปี 2560-2561 ส่งประกายความหวัง เมื่อมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 331,951.67 ไร่ ทำให้มีป่าไม้มากที่่สุดในรอบ 6 ปี ท่ามกลางการผลักดันในการเพิ่มพื้นที่เป็นร้อยละ 55 ของประเทศ ขณะที่นักวิจัย สกว. เสนอสวนผลไม้ให้เป็นพื้นที่ป่าในเมือง เพิ่มปอดให้กับคนเมือง
ผืนป่าไทยเพิ่มขึ้น 3.3 แสนไร่ แต่ยังต่ำกว่า 40% ของประเทศ
ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยค่อนข้างที่จะอยู่ในระดับคงที่ร้อยละ 31 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในปี 2558 World Bank ระบุว่าไทยมีพื้นที่ป่าไม้รั้งท้ายในอาเซียน ในอันดับที่ 9 จาก 11 ชาติ รวมถึงอันดับ 16 ของภูมิภาคเอเชีย และอันดับ 118 ของโลก ทำให้การป้องกันและรักษาทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ และได้มีการตั้งเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำหนดให้ภายในปี 2580 ต้องมีพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ
แต่ข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ปีล่าสุด ได้รับสัญญาณที่ดี และสร้างประกายความหวังในการฟื้นฟูและรักษาป่าไม้ขึ้น โดย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้รายงานถึงข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี 2560 – 2561 พบว่าภาพรวมไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 102,488,302.19 ไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ เพิ่มขึ้น 331,951.67 ไร่
เมื่อดูเป็นรายภูมิภาคพบว่า ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด จำนวน 38,533,429.40 ไร่ หรือ ร้อยละ 64.17 รองลงมาคือภาคตะวันตก มี 20,108,513.54 ไร่ ร้อยละ 59.08, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15,750,098.53 ไร่ ร้อยละ 15.03, ภาคกลาง 12,163,869.66 ไร่ ร้อยละ 21.37 และภาคตะวันออก 4,725,162.36 ไร่ ร้อยละ 21.93
พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 3.3 แสนไร่ เทียบได้กับพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีพื้นที่ป่าไม้รวมมากที่สุดในรอบ 6 ปี นับว่าเป็นผลมาจากการดำเนินงานของกรมป่าไม้ ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า รวมทั้งยังได้ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่า และดำเนินการป่าชุมชนเพื่อให้ราษฎรช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าต่อไปอีกด้วย
กรุงเทพฯ มีพื้นที่ป่าไม่ถึง 20%
ขณะที่เมื่อดูข้อมูลในรายจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ จ.เพชรบูรณ์ เพิ่ม 62,394.96 ไร่ รองลงมา จ.ชัยภูมิ 56,100.06 ไร่ และ จ.พังงา 35,045.66 ไร่ ส่วนจังหวัดที่มีการบุกรุกมากที่สุด คือ จ.แม่ฮ่องสอน ลดลง 40,671.59 ไร่ รองมาเป็น จ.กาญจนบุรี 25,499.01 ไร่ และ จ.เชียงราย 16,445.66 ไร่ ขณะที่ กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 23 จังหวัดที่มีป่าไม้น้อยกว่าร้อยละ 20
ส่วนจังหวัดที่อยู่ในขั้นวิกฤต หลังจากไม่พบพื้นที่ป่าไม้มี 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นนทบุรี, จ.ปทุมธานี, จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีแต่พื้นที่ชุมชน ซึ่งทางจังหวัดต้องหาพื้นที่ในการปลูกต้นไม้ โดยตามคำนิยามถึงพื้นที่ป่าไม้ เพื่อให้ดาวเทียมสามารถจับข้อมูลได้ ต้องมีพื้นที่ในบริเวณเดียวกัน 3.125 ไร่
นอกจากนั้น อธิบดีกรมป่าไม้ ยังได้เผยถึงสถานการณ์เขาหัวโล้นว่า เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มี นโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ชาวบ้านเริ่มจัดโซนนิ่งกันเอง และไม่ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว มีการปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น เพราะอยากให้กรมป่าไม้รับรองสิทธิทำกินอย่างถูกต้อง จึงไม่ทำผิดกฎหมาย เชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี ปัญหาเขาหัวโล้นจะค่อยๆ หมดไป และขณะนี้ได้จัดทำแบล็กสิสต์ชุมชนที่บุกรุกป่าและก่อจุดความร้อนที่เป็นต้นเหตุของการเกิดไฟป่า เพื่อดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด
สวนผลไม้ พื้นที่สีเขียวที่ถูกมองข้าม
จากข้อมูลที่ จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี เป็น จังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ หากแต่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสวนผลไม้มาตั้งแต่ในอดีต โดยพบข้อมูลว่าสวนผลไม้ชานกรุงมีคุณค่าในเชิงนิเวศสูง ทำให้มีการส่งสัญญาณถึงภาครัฐให้ความสำคัญควบคู่กับการสร้างสวนสาธารณะเพิ่มพื้นที่สีเขียว อันเป็นการเพิ่มปอดให้กับคนเมือง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน แต่ในกรุงเทพฯ หากนับประชากรแฝงแล้ว มีเพียง 3.54 ตร.ม./คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาก
ผศ.ดร.ม.ล.วุฒิพงษ์ ทวีวงศ์ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหัวหน้าโครงการวิจัยภูมิทัศน์สวนในบางกอก : การศึกษาคุณค่าด้านนิเวศวิทยาของสวนผลไม้ในการเป็นป่าในเมืองบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกล่าวว่า พื้นที่สีเขียว (Green space) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะกับคนเมือง แต่สำหรับกรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่มาก แม้ภาครัฐจะมี นโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่มักเป็นการสร้างสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ทันกับการขยายตัวของเมือง ถ้าหากศึกษาจะพบว่าพื้นที่สีเขียวดั้งเดิมของกรุงเทพฯ และโดยรอบ เป็นพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะสวนผลไม้ แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เมืองมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้พื้นที่สวนถูกเปลี่ยนเป็นโครงการที่อยู่อาศัย
โดยจากงานวิจัยพบว่า สวนมีลักษณะยกร่อง ปลูกไม้ผลยืนต้นผสมผสานหลายชนิด ซึ่งมีคุณค่าในเชิงนิเวศ มีคุณสมบัติเป็นป่าในเมือง (Urban forest) ตามเกณฑ์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยเช่นกัน
____________________
ผศ.ดร.ม.ล.วุฒิพงษ์ ทวีวงศ์ – นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
“ทำอย่างไรที่จะอนุรักษ์สวนผลไม้ให้เป็นพื้นที่สีเขียวของคนเมืองได้มากและยาวนานที่สุด เพราะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญหาย จากการขยายตัวของเมือง ชาวสวนบางส่วนขายที่ดินทำให้ถูกพัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ ส่วนสวนที่ยังดำเนินอยู่จำเป็นต้องนำการท่องเที่ยวมาสนับสนุน แต่ก็พบว่ามีการฟื้นฟูสวนซึ่งถูกทิ้งร้าง แต่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างทุเรียนเป็นหลัก ทำให้ความหลากหลายในสวนมีน้อย สิ่งที่ผมทำได้คือเสนอข้อมูลกระตุ้นภาครัฐสร้างนโยบาย ให้การขยายเมืองผสมผสานกับสวน และใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สีเขียว โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าสวนผลไม้ มีคุณค่าในเชิงนิเวศ สามารถเป็นปอดให้กับคนเมืองได้เช่นกัน”