Sunday, June 11, 2023
More
    spot_imgspot_imgspot_imgspot_img

    มาเช็กดูกันว่า ส.ส.พรรคเล็ก จะไปอยู่ฝั่งไหน?

    เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 62 กกต. ได้เผยแพร่เอกสาร ชี้แจงการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา

    ผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128-129 ประกอบกับเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมาเป็นแนวทางในการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในครั้งนี้  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปรึกษาหารือและนำเรียนกรรมการการเลือกตั้งแต่ละท่านทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว โดยที่ผ่านมากรรมการการเลือกตั้งแต่ละท่านมีข้อคิดเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้มีพรรคเล็กได้จำนวนที่นั่งสส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่ม เรามาวิเคราะห์กันดูว่าถ้าเกิดมีจำนวนพรรคเล็กเหล่านี้จริง พรรคเหล่านี้จะมีทิศทางไปร่วมกับฝ่ายไหน ที่แบ่งเป็นฝ่ายเอาลุงตู่ และไม่เอาลุงตู่ ไปก่อนหน้านี้ เริ่มต้นที่


    ทีมคุณหญิงหน่อย
    พรรคพลังปวงชนไทย ประกาศเข้าร่วมกับพรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยไปแล้ว โดยหัวหน้าพรรคและปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง นายนิคม บุญวิเศษ แกนนำเครือข่ายวิทยุธุรกิจภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมีความสนิทสนมกับ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเลือกยืนอยู่มุมนี้

    พรรคพลังไทยรักไทย มี นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล เป็นหัวหน้าพรรค แต่มี พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เป็นประธานกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้ง แม้ปัจจุบันจะถอยห่างจากสนามการเมืองมานาน แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีในอดีตน่าจะเลือกเข้ากับฝ่ายพรรคเพื่อไทยมากกว่า

    พรรคประชาธรรมไทย มีนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีผู้แทนการค้าไทย อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เป็นหัวหน้าพรรค จากโพรไฟล์การทำงานและความสัมพันธ์ที่ผ่านมาน่าจะเลือกยืนอยู่ฝ่ายนี้มากกว่าฝั่งนู้น

    พรรคประชาธิปไตยใหม่ มีนายสุรทิน พิจารณ์ เป็นหัวหน้าพรรค ในอดีตพรรคประชาธิไตยใหม่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ดังนั้นถ้าจะมาร่วมอีกครั้งก็คงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ

    พรรคครูไทยเพื่อประชาชน มีนายปรีดา บุญเพลิง เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อไปค้นข้อมูลพบว่าเป็นเพื่อนใกล้ชิดกับ นายสมคิด เชื้อคง ว่าที่ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ดังนั้นสมการน่าจะออกมาอยู่ฝั่งนี้มากกว่า

    พรรคประชาภิวัฒน์ มีนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นศิษย์สายตรงวัดพระธรรมกายคนสำคัญคนหนึ่งโดยที่คอการเมืองรู้กันว่าคนในตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทางวัดพระธรรมกายมาช้านาน ดังนั้นถ้าจะให้พรรคประชาภิวัตน์เลือกระหว่างฝั่งพรรคเพื่อไทยและฝั่งหนุนลุงตู่ คิดว่าน่าจะเอนเอียงมาฝั่งนี้แน่นอน

    ทีมลุงตู่
    พรรคประชาชนปฎิรูป นายไพบูลย์ นิติตะวัน  เจ้าของนโยบายน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาทุกข์ร้อนให้ประชาชนอย่างยั่งยืน ที่ยืนยันในทุกเวทีปราศรัยและเวทีดีเบตว่ามติของพรรคจะไม่ส่งชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี รอสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ ต่อไปเท่านั้น

    พรรคพลังชาติไทย ของพลตรีทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรค อดีตคณะทำงานด้านการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ดังนั้นถ้าจะเลือกหนุนลุงตู่ก็ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพร์สมากนัก

    พรรคไทยศรีวิไลย์ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคประกาศก้องไปแล้วว่าจะไม่ยืนอยู่ข้างเดียวกับพรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นต้องมาอยู่ฝ่ายนี้ชัวร์ 100%

    พรรคประชานิยม ที่มี พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่าพรรคประชานิยม พร้อมเสนอชื่อและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกครั้ง เพราะปัจจุบันประเทศชาติอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาล คสช. ก็ตรงตามนโยบายของพรรคประชานิยมเกือบทั้งหมด

    พรรคพลังธรรมใหม่ มี นพ.ระวี มาศฉมาดล เป็นหัวหน้าพรรค เคยกล่าวถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญว่า พรรคมีอยู่ 3 รายชื่อ หนึ่งในนั้นคือตนเองในฐานะหัวหน้าพรรค และไม่ปฏิเสธหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้เป็นนายกอีกสมัย

    พรรคนี้ยังไม่ชัดเจน
    พรรคไทรักธรรม มีนายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค เป็นหัวหน้าพรรค โดยพรรคนี้มีความน่าสนใจตรงที่มีสมาชิกพรรคถึง 49,721 คน เป็นอันดับสองรองจากพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าพรรคเคยให้สัมภาษณ์ว่าพรรคสามารถร่วมกับพรรคไหนก็ได้เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ไม่ขอเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นจึงรอดูท่าทีว่าใครได้เสียงมากกว่าน่าจะเทไปฝั่งนั้น

    พรรคพลเมืองไทย มีนางสาวศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค บุตรสาวของ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และเคยเป็นข้าราชการการเมืองดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งความน่าจะเป็นไปได้ทั้งสองฝ่าย อยู่ที่ฝ่ายไหนให้ดีลดีกว่ากัน