ขณะที่โลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนทำงานส่วนใหญ่จึงมีการใช้ออนไลน์ในเวลาทำงานเพื่อทำเรื่องส่วนตัว ซึ่งจากรายงาน Global Privacy Report ระบุว่ากว่า 50% ของคนทำงานมีการซ่อนกิจกรรมต่างๆ บนโซเชียลจากเพื่อนร่วมงาน และหัวหน้า เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้อาจมีผลต่อความสัมพันธ์ในการทำงาน ไปจนถึงการเลิกจ้างในระยะยาวได้
Kaspersky Lab บริษัทด้านความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตระดับโลก เปิดเผยรายงาน Global Privacy Report ว่ามนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ เลือกที่จะแอบ หรือซ่อนโซเชียลมีเดีย จากนายจ้างหรือหัวหน้างาน รวมไปถึงเพื่อนร่วมงาน ซึ่งกว่า 52% ของคนทำงาน เลือกที่จะไม่เปิดเผยกิจกรรมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียของเขาต่อเพื่อนร่วมงาน
ทั้งนายจ้าง และเพื่อนร่วมงาน ถือเป็นภัยคุกคามต่อกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย
จากรายงานระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วตลอดชีวิตการทำงานของมนุษย์เงินเดือน มักจะหมดไปกับการใช้ชีวิตในที่ทำงาน ถึง 13 ปี 2 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เพียงแค่มุ่งหน้าทำงาน หรือหวังในการเลื่อนตำแหน่งเพียงเท่านั้น จำนวน 2 ใน 3 หรือ 64% ของคนทำงาน ใช้เวลาในการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานในทุกๆ วันในเวลางาน
โดยพนักงานกว่า 29% ไม่ต้องการให้นายจ้าง หรือหัวหน้างานรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ที่ตัวเองเข้าไป และที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ 52% ของพนักงานที่แอบนายจ้าง ก็ไม่ต้องการให้เพื่อนร่วมงานรู้เช่นกัน นั่นหมายถึงเพื่อนร่วมงานถือเป็นภัยคุกคามต่อมุมมองเรื่องเหลวไหลในออฟฟิศ
โซเชียลมีเดียแชร์ให้เพื่อนร่วมงานได้ แต่เจ้านายเป็นสิ่งต้องห้าม
แต่อีกมุมหนึ่งโซเชียลมีเดียก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานกลายเป็นแบบเป็นกันเองได้ เนื่องจากในทางตรงกันข้าม โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นส่วนตัวอีกต่อไป และสามารถแชร์ให้เพื่อนร่วมงานได้ แต่ไม่ได้แชร์ให้เจ้านายเห็น อาจจะเพราะว่าพนักงานกลัวที่จะทำลายภาพลักษณ์ขององค์กร หรือทำให้ลดประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งทำให้องค์กรต่างๆ เข้ามาตรวจสอบโซเชียลมีเดียของพนักงาน และอาจทำให้มีผลในการเปลี่ยนแปลงอาชีพโดยจะพิจารณาจากโซเชียลมีเดียได้ ซึ่งจากการสำรวจสรุปได้ว่า 59% ไม่ต้องการให้เจ้านายรู้กิจกรรมในโซเชียลมีเดียของตน และ 54% ไม่ต้องการให้เพื่อนร่วมงานรู้เช่นกัน และยังมีอีก 34% ที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อความรวมถึงอีเมลให้เพื่อนร่วมงานทราบ
ความตั้งใจในการทำงานอาจศูนย์เปล่า หากไม่ระวังการโพสต์บนโซเชียล
มีมนุษย์เงินเดือนอีก 5% ที่เปิดเผยว่า ชีวิตการทำงานของพวกเขาเสียหาย โดยเป็นผลพวงมาจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้กับเพื่อนร่วมงาน
ขณะเดียวกัน มาริน่า ทิโทว่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ Kaspersky Lab ระบุว่า ในขณะที่โลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างการใช้ออนไลน์ในที่ทำงานและที่บ้าน ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและไม่ดี เพราะเราอยู่ในยุคดิจิทัล ดังนั้นในฐานะที่คุณเป็นพนักงานต้องพึงระวังในการโพสต์บนโซเชียลมีเดีย รวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ ที่เข้าไปในขณะทำงาน หากมีการกระทำที่ผิดพลาด หรือเข้าใจผิดบนอินเทอร์เน็ตอาจทำให้มีผลในการเลิกจ้างในระยะยาวจากงานที่ตั้งใจทำมาตลอดได้
ทั้งนี้ Kaspersky Lab ได้ให้ข้อแนะนำ เพื่อเป็นแนวทางให้พนักงานหลีกเลี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทางออนไลน์ในที่ทำงาน ดังนี้
• อย่าโพสต์อะไรที่เป็นการหมิ่นประมาท ลามกอนาจาร ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการใส่ร้าย หากมีข้อสงสัยไม่ควรโพสต์
• ควรตระหนักไว้เสมอว่าอย่างน้อยผู้ดูแลระบบก็สามารถดูการเข้าเว็บไซต์ของคุณได้
• อย่าคุกคาม ข่มขู่ แบ่งแยก หรือดูหมิ่นเพื่อนร่วมงาน พาร์ทเนอร์ คู่แข่ง หรือลูกค้า ไม่ว่าจะผ่านทางโซเชียลมีเดียหรือข้อความ อีเมล ไม่ว่าในแง่ใดก็ตาม
• ไม่ควรโพสต์รูปของพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า หรือรูปสินค้าของบริษัท โดยมิได้รับอนุญาต
• ควรติดตั้งโซลูชั่นความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุปกรณ์ส่วนตัว รวมถึงระบบจัดการพาสเวิร์ด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีเพื่อนร่วมงาน หรือคนไม่พึงประสงค์เข้ามาใช้งานในโซเชียลมีเดียของเราได้