ผลสำรวจเผยคนวัยทำงานทั่วโลกไม่ยอมหยุดลาพักร้อนกำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยคนไทยติดอันดับ 7 ของโลกที่ไม่ยอมหยุดลาพักร้อน ทั้งยังยกเลิกวันลาพักร้อนเพราะติดงาน ขณะที่ผลศึกษาชี้ว่าการติดงานเสี่ยงเกิดภาวะ Burnout ที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งรับรองให้ต้องรับการรักษาทางการแพทย์
ไทยติดอันดับประเทศลาพักร้อนน้อย
จากการเผยผลสำรวจ 18th Annual Vacation Deprivation® Study เกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ไม่ยอมหยุดลาพักร้อน และสาเหตุที่ไม่ได้พักผ่อนอย่างแท้จริงใน 19 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นรายงานประจำปี 2561ของเอ็กซ์พีเดีย ระบุว่านักท่องเที่ยววัยทำงานที่ไม่ยอมหยุดลาพักร้อนกำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอินเดียเป็นประเทศที่มีคนไม่ยอมหยุดลาพักร้อนมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก มีสัดส่วนสูงถึง 75% รองลงมาอันดับ 2 เกาหลีใต้ 72% และ อันดับ 3 ฮ่องกง 69% ส่วนคนไทยติดอันดับประเทศที่ใช้วันลาพักร้อนน้อยที่สุดในโลกด้วย โดยรั้งในอันดับ 7 ด้วยสัดส่วน 62%
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะนิยมใช้ช่วงวันลาพักร้อนเพื่อดูแลสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น แต่วันลาพักร้อนก็ยังถูกใช้ไปในการทำธุระอื่นๆ อีก เช่น จัดตารางนัดหมาย และทำสิ่งต่างๆ ที่คั่งค้างให้เสร็จ เป็นต้น โดยพบสถิติสูงถึง 67% หรือจำนวน 2 ใน 3 ของแรงงานทั่วโลก ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะพบมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย 85% ไทย 85% รวมถึงบราซิล 84%
จากผลสำรวจยังพบว่า คนทำงานในไทยกว่า 80% เห็นด้วยว่าสมควรได้รับวันลาพักร้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งติดอันดับสูงสุดของกลุ่มประเทศในเอเชีย โดยคนทำงานในฮ่องกง เห็นด้วยกว่า 86% อินเดีย 82% และญี่ปุ่น 54%
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุจำนวนเฉลี่ยของวันลาพักร้อนที่คนไทยได้รับ คือ 10 วัน/ปี ขณะที่ผู้คนในประเทศบราซิล ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน ได้รับวันลาพักร้อนสูงสุด 30 วัน/ปี รองลงมาคือ อิตาลี 28 วัน/ปี ตามมาด้วย สหราชอาณาจักร 26 วัน/ปี ส่วนประเทศอื่นในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น และอินเดีย ได้รับ 20 วัน/ปี, มาเลเซีย 16 วัน/ปี, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ 15 วัน/ปี, ไต้หวัน และฮ่องกง 14 วัน/ปี จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าคนไทยได้รับวันลาพักร้อนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศที่ทำการสำรวจ 19 ประเทศทั่วโลก
ติดงาน เหตุผลที่คนไทยยกเลิกลาพักร้อน
ขณะที่หลายประเทศในแถบเอเชียยังติดอันดับในเรื่องการยกเลิกหรือเลื่อนวันลาพักร้อน เนื่องจากติดงานอีกด้วย เมื่อส่องดูพฤติกรรมการลาหยุดพักร้อนของคนไทย ก็พบว่ามีคนทำงานที่จำเป็นต้องยกเลิกวันลาพักร้อน เพราะติดงานสูงถึง 74% ขณะเดียวกันก็มีถึง 24% ที่ไม่ได้ลาหยุดพักร้อนหลังจากทำงานไปแล้ว 6 เดือนหรือนานกว่านั้น
สำหรับคนไทยที่ไม่ลาหยุดพักร้อนนั้น แตกต่างกันไปตามกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มที่ไม่ใช้วันลาพักร้อนมากที่สุดอันดับ 1 คือ ด้านการเกษตร รองลงมา ด้านการตลาดและสื่อ และด้านอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนเหตุผล 3 ข้อแรกที่คนไทยไม่ใช้วันลาพักร้อน ได้แก่ ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน ตามด้วยต้องการเก็บวันหยุดไว้ลาในช่วงวันหยุดยาว และไม่สามารถลาหยุดงานได้
อย่างไรก็ตาม พบว่ามี 42% ที่เลือกใช้วิธีเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้น แทนการไม่ได้ลาในช่วงวันหยุดยาว เนื่องจากการเดินทางที่รวดเร็ว โดยใช้เวลาในการเดินทางไม่เกิน 4 ชั่วโมง และเลือกพักใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาว่าการหยุดทำงานนั้นสำคัญมาก ก็พบข้อมูลที่ชวนประหลาดใจว่าคนไทยจำนวนเกือบ 1 ใน 4 หรือ 24% ยังคงเช็กอีเมลที่ทำงาน ข้อความเสียง ระหว่างที่ลาพักร้อนอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และ 42% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง จะใช้วันหยุดในช่วง 3-6 เดือนก่อนที่จะหมดเวลาพักร้อนประจำปี
ทำงานหนักเกินเสี่ยง Burnout
อาการอยากหยุดงาน แต่หยุดไม่ได้เพราะติดงาน ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่มนุษย์ออฟฟิศยุคนี้ต้องเผชิญกัน ซึ่งภาวะดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพทางจิตใจได้เช่นกัน ยังมีผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานด้วย โดยจากงานศึกษาของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องการติดงานและความผูกใจมั่นในงาน: สาเหตุเชิงแรงจูงใจ และผลด้านความเหนื่อยหน่ายในงาน ระบุถึงการติดงาน (Workaholism) เป็นสภาวะที่คนมีแนวโน้มในการทำงานหนักมากเกินความจำเป็น ซึ่งการทำงานดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่สามารถต้านทานได้ ทำให้คิดหรือรู้สึกหมกมุ่นกับงาน และแสดงออกในรูปของการทำงานอย่างหมกมุ่น
จากการศึกษาพบว่าการติดงานมีองค์ประกอบ 2 ประการคือ 1. การทำงานมากเกินไป สะท้อนถึงการติดงานเชิงพฤติกรรม คือใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการทำงาน จนละเลยและกระทบต่อด้านอื่นในชีวิต เช่น การเล่น การพักผ่อน หรือการรับประทาน เป็นต้น และ 2. การทำงานอย่างหมกมุ่น สะท้อนถึงการติดงานเชิงปัญญา คือ การคิดหรือรู้สึกหมกมุ่นอยู่กับการทำงาน คิดถึงแต่เรื่องงานแม้จะไม่ได้อยู่ในเวลาทำงาน หรือรู้สึกผิดเมื่อไม่ได้ทำงาน เป็นแรงขับภายในที่บุคคลไม่สามารถต้านทานได้
ขณะที่ปัจจัยเกี่ยวข้องกับการติดงานมีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ 1. มุมมองด้านลักษณะนิสัย ไม่ว่าจะเป็นความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ บุคลิกภาพที่สัมพันธ์กับความสำเร็จ และค่านิยมด้านความสำเร็จ 2. มุมมองด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งอิทธิพลจากครอบครัว สถานที่ทำงาน และการรับรู้ความสามารถของตนเอง และ 3. การเสริมแรงพฤติกรรม เช่น การให้รางวัลสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานได้ดีที่สุด จะทำให้พนักงานแสดงพฤติกรรมขยันทำงานหรือทำงานให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้รับรางวัลดังกล่าว หรืองานมีผลตอบแทนสูง อย่างการได้เลื่อนขั้น มีเงินเดือนสูงขึ้น ได้รับการยอมรับและการชื่นชมจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น
การติดงานนำไปสู่ผลทางลบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ขาดการฟื้นคืนจากการทำงาน (Recovery After Work) ทำให้ไม่มีช่วงเวลาที่ได้พักผ่อน เพื่อฟื้นฟูร่างกายและอารมณ์หลังการทำงาน ขณะเดียวกันการรับรู้สุขภาวะทางจิต (Subjective Well-being) หรือรู้สึกว่าความสุขความพึงพอใจในชีวิตโดยรวมลดลง ยังทำให้มีการลาป่วย (Sickness Absence) เพิ่มขึ้น หรือทำงานไปโดยที่ร่างกายหรือจิตใจไม่สมบูรณ์ ทำให้ประสิทธิภาพขณะทำงานลดลง (Presenteeism) และเกิดความผิดพลาดในงาน ผลการปฏิบัติงาน (Performance) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จนถึงขั้นนำไปสู่ความเหนื่อยหน่ายในงาน (Burnout) หรือภาวะหมดไฟทำงาน
WHO รับรองให้ภาวะหมดไฟทำงาน ต้องรับการรักษาในทางการแพทย์
สำหรับประเด็นเรื่องภาวะหมดไฟทำงาน ได้รับการกล่าวถึงกันในวงกว้างมากขึ้น เมื่อที่ประชุมองค์การอนามัยโลก (WHO) มีมติพิจารณาให้เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก ในคู่มือวินิจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (The International Classifi cation of Diseases) หรือ ICD-11 ซึ่งเป็นมาตรฐานการวินิจฉัยโรคและการประกันสุขภาพ
โดยระบุว่า ภาวะหมดไฟทำงาน เป็นอาการผิดปกติที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในการทำงานที่ไม่ได้รับการรักษาให้หาย ซึ่งมีลักษณะอาการที่เข้าข่าย ได้แก่ 1. รู้สึกหมดไฟ เหนื่อยล้า สูญเสียพลังงานหรือภาวะอ่อนเพลีย 2. ไม่อยากทำงาน ต้องการเพิ่มระยะทางจิตใจออกห่างจากงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องานที่เกี่ยวข้อง และ 3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง สำหรับ ICD-11 สมาชิกองค์การอนามัยโลก 194 ประเทศได้ทำการลงนามรับรองแล้ว ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป
คุณลาวิเนีย ราชราม – หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร เอ็กซ์พีเดีย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“ในช่วงหลายปีมานี้ เริ่มเห็นว่ามีจำนวนคนทำงานใช้วันลาพักร้อนในช่วงเวลาสั้นเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะมีช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์เป็นวันหยุดยาวติดกับวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งไทยคือตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ เมื่อการเดินทางมากขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม การพักผ่อนในช่วงสั้นๆ ก็สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างมาก สำหรับเราแล้ว การชาร์จพลังง่ายๆ หมายถึงว่าต้องไม่มีการเชื่อมต่อและทำให้ช้าลง ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดพักผ่อนของครอบครัวหรือการหลบหนีไปเที่ยวตามลำพัง ให้กำหนดกฎเกณฑ์ให้ตัวคุณเองว่าคุณจะอนุญาตให้ตัวเองเช็กอีเมลได้กี่ครั้ง บ่อยแค่ไหน และพยายามไม่ให้เกินกำหนด”
[English]
Thais at Risk of Burnout
The 18th Annual Vacation Deprivation® Study by Expedia, which studied travelers and their annual leave behavior, found the number of working-age travelers that refuse to take annual/vacation leave is rising. In this survey, India was the country with the highest number of such travelers, at 75%, followed by South Korea (72%) and Hong Kong (69%). Thailand was ranked seventh with 62% of working-age travelers, who have not taken any vacation leave.
The survey also found that two-thirds of the world’s working-age population have spent most of their vacation days on personal businesses, but not on holidays. Such a behavior has been mostly found in developing countries, such as India (85%), Thailand (85%) and Brazil (84%).
In addition, the study revealed that Thailand’s average annual leave are 10 days – the lowest among 19 countries covered in the survey, compared with 30 days a year in Brazil, France, Germany and Spain, or 28 days in Italy, or 26 days in United Kingdom. The second smallest number of annual leave in the survey is in Hong Kong and Taiwan, where working people get 14 days of paid vacation.
Those in Thailand, who tend to give up their annual leave, are mostly people in the agricultural sector, followed by marketing and mass media, and food and beverages. And, top-3 reasons for not taking annual leave in Thailand have been 1) no idea about where to go, 2) saving annual leave for upcoming long public holidays, and 3) inability to leave work for holiday.
Workaholism may be one of the reasons of such a situation and that also reflects the reality of overwork and work obsession – some of the causes of burnout among Thais.