สถานการณ์สัตว์ทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์เริ่มวิกฤตหนัก หลังพบแพขยะพลาสติกยาวกว่า 10 กิโลเมตร ในทะเลนอกเขตชายฝั่ง จ.ชุมพร และข่าวการตายของวาฬนำร่องที่พบถุงพลาสติกถึง 85 ชิ้นในท้อง ทำให้ปัญหา “ขยะทะเล” ได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง สะท้อนถึงมาตรการบริหารจัดการขยะทั้งบนบกและในทะเลที่ขาดประสิทธิภาพ
ขยะส่งผลกระทบเสี่ยงสัตว์ทะเลสูญพันธุ์
รายงานจากองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ระบุว่า หลายประเทศในอาเซียนทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากสุดในโลก โดยขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตัน มาจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย หากยังไม่มีการแก้ไขจะทำให้ขยะเพิ่มขึ้นอย่างเท่าตัว และอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์มากขึ้น
ด้านรายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากเสี่ยงสูญพันธุ์ จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่า เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ มีแนวโน้มการเกยตื้นเพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจ 3 ปีย้อนหลัง พบว่า สัตว์ทะเลเกยตื้นเฉลี่ยปีละ 400 ตัว แบ่งเป็นเต่าทะเล 54% โลมาและวาฬ 41% และพะยูน 5%
ด้านสถิติในช่วงปี 2546-2560 พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นรวม 3,702 ตัว โดยช่วงที่พบมากสุด คือปี 2560 จำนวน 566 ครั้ง และปี 2559 จำนวน 449 ครั้ง (ดูอินโฟกราฟิก 1)
ล่าสุด ต้นปี 2562 มีข่าววาฬบรูด้า ซึ่งเป็นวาฬขนาดใหญ่สุดในทะเลอ่าวไทย ความยาวประมาณ 10 เมตร น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2 ตัน เกยตื้นหน้าหาดแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช
เดือน ก.ค. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับรายงานพบซากวาฬหัวทุยลอยตายอยู่กลางทะเล ห่างจากเกาะลันตาประมาณ 3 ไมล์ทะเล จากการชันสูตรซากวาฬพบขยะพลาสติกจำนวน 4 ใบ
ในเดือนเดียวกัน พบซากเต่าตนุถูกคลื่นซัดเกยหาดแม่รำพึง จ.ระยอง หลังตรวจพิสูจน์พบว่าอวัยวะภายในเน่าหมด โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะอาหารมีการอักเสบและเต็มไปด้วยสาหร่าย เปลือกเพรียง เศษซั้งเชือกและเอ็น
ขณะที่ข่าวการตายของวาฬนำร่องครีบสั้น อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อช่วงกลางปี 2561 ซึ่งพบซากถุงพลาสติกอยู่ในท้องวาฬถึง 85 ชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 8 กิโลกรัม ทำให้สังคมหันมาตระหนักถึงเรื่องขยะทะเลมากขึ้น
ขยะพลาสติกจุดจบชีวิตสัตว์ทะเล
ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ขยะทะเลมีทั้งขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว การทำประมง ภาคอุตสาหกรรม การเดินเรือพาณิชย์ รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลโดยผิดกฎหมาย โดยแหล่งที่มาของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด และจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น
ขยะพลาสติกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัตว์ทะเลเหล่านี้ต้องจบชีวิตลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเต่าทะเลที่เกยตื้นจากผลกระทบของขยะทะเล เช่น การเกี่ยวพันของอวน มีสัดส่วนสูงถึง 20-40% และเกิดจากการกลืนขยะทะเลเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร มีสัดส่วน 2-3%
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ถุงพลาสติก ขวด ภาชนะใส่อาหาร และวัสดุสำหรับบรรจุหีบห่อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น สายรัด แผ่นพลาสติก เครื่องมือประมง เช่น แห อวน ลอบ เป็นต้น (ดูอินโฟกราฟิก 2)
ผลักดันขยะเป็นวาระแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2562 เป็นเรื่องน่ายินดี หลังจากนักอนุรักษ์ทางทะเลใช้เวลาร่วมผลักดันกว่า 4 ปี เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยมีสัตว์ป่าสงวนเพิ่มขึ้น 4 ชนิดคือ 1.วาฬบรูด้า 2.วาฬ โอมูระ 3.ปลาฉลามวาฬ และ 4.เต่ามะเฟือง ซึ่งหลังจากการประกาศเพิ่มสัตว์ทั้ง 4 ชนิดแล้วส่งผลให้บัญชีสัตว์ป่าสงวนของไทยเดิมที่มี 15 ชนิด เพิ่มเป็น 19 ชนิด
อีกทั้งปัจจุบันปัญหาขยะทะเล ถูกบรรจุอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (ดูอินโฟกราฟิก 3)
ล่าสุด ในการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา นอกจากการผลักดันให้มีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ แล้ว ยังกำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยตั้งเป้าหมายลดขยะทะเลให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2570 และจัดให้มีโครงการต่างๆ อาทิ การจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศที่สำคัญ การออกมาตรการลดปริมาณขยะที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การวิจัยและสำรวจข้อมูลขยะทะเล การจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลขยะทะเลตามมาตรฐานสากล รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุก เช่น โครงการเก็บขยะชายหาดสากล และโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งการหาทางออกดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขวิกฤตขยะทะเลไทย
ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ – ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“การจัดการขยะทะเลต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทางคือ คน โดยต้องสร้างความตระหนักและการปรับเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาขยะใหม่ ไม่ใช่แก้ด้วยการเก็บขยะแล้วนำไปรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองขยะเป็นวัตถุดิบ ให้การจัดการขยะเป็นเรื่องของ Business Model ทำให้เห็นประโยชน์จากขยะเหล่านี้มากกว่าการมองว่าเป็นปัญหา”