ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง พบว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นพาหนะในการเดินทาง มากกว่ารถสาธารณะ เกือบ 2 เท่า ในสัดส่วนรถยนต์ส่วนบุคคล 59% ขณะที่การใช้บริการรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์)/รถสองแถว อยู่ที่ 23% เท่านั้น
โดยจากการสำรวจเมื่อถามถึงพาหนะที่ประชาชนใช้เดินทางใน กรุงเทพมหานคร ผลสำรวจเป็นดังนี้
อันดับ 1 ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล 59.09%
อันดับ 2 ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์)/รถสองแถว 23.60%
อันดับ 3 ใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 22.33%
อันดับ 4 ใช้บริการรถแท็กซี่ 11.00%
อันดับ 5 ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS/แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ 9.73%
อันดับ 6 ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง 6.06%
อันดับ 7 ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 3.75%
อันดับ 8 ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ 3.11%
อันดับ 9 ใช้บริการเรือโดยสาร 1.20%
อันดับ 10 อื่น ๆ ได้แก่ ใช้รถยนต์ของบริษัทที่ทำงาน และรถจักรยาน 0.32%
นอกจากนี้ นิด้าโพล ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ สิทธิรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามแยก ลอดอุโมงค์ โดยเมื่อสอบถามการพบเห็นรถจักรยานยนต์ขับขี่ขึ้นสะพานข้ามแยก/ลอดอุโมงค์ พบว่า
– 46.49% ระบุว่า พบเห็นเป็นประจำ
– 24.48% ระบุว่า พบเห็นค่อนข้างบ่อย
– 23.13% ระบุว่า ไม่ค่อยพบเห็น
– 5.50% ระบุว่า ไม่เคยพบเห็นเลย
– 0.40% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ซึ่งเมื่อสอบถามเกี่ยวกับการอนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานข้ามแยก/ลอดอุโมงค์ทุกแห่งทั่ว กทม. พบว่า ความคิดเห็นของประชาชนเป็นดังนี้
– 51.12% ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ สะพานข้ามแยกค่อนข้างลาดชัน ไม่เหมาะกับรถจักรยานยนต์ เพราะส่วนใหญ่รถที่ใช้สะพานข้ามแยก/อุโมงค์จะใช้ความเร็วค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
– 40.75% ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เพื่อลดการจราจรที่ติดขัด สามารถระบายรถได้ดีขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ควรมีช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะกับสะพานข้ามแยก/อุโมงค์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ
– 4.94% ระบุว่า เฉย ๆ ยังไงก็ได้
– 1.99% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เห็นด้วยกับการให้ขึ้นสะพานข้ามแยก แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้ลอดอุโมงค์ และบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการให้ขึ้นสะพานข้ามแยก แต่เห็นด้วยกับการให้ลอดอุโมงค์ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะบางจุดในชั่วโมงเร่งด่วนเท่านั้น
– 1.20% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ