World Economic Forum จัดอันดับประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (The Global Competitiveness Index 4.0 2019) พบว่าปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ขยับลงมาจากอันดับ 38 ในปี 2018
รายงาน The Global Competitiveness Index 4.0 2019 จัดทำขึ้นโดย World Economic Forum ซึ่งได้ทำการวิจัยและจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั้งหมด 141 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับศักยภาพการแข่งขันของแต่ละประเทศโดยวิเคราะห์จากข้อมูลผ่าน 103 ตัวชี้วัด ที่จัดเป็น 12 ด้าน ใน 4 มิติ ได้แก่ มิติสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย, มิติทรัพยากรมนุษย์, มิติตลาด และมิติระบบนิเวศของนวัตกรรม
โดยในปีนี้ประเทศไทยมีค่าดัชนีความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.1 คะแนน จากเดิม 67.5 คะแนนในปี 2018 แต่อันดับตกลงมาจากที่ 38 มาอยู่ที่ 40 ของโลก
สำหรับประเทศที่มีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันสูงที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่
อันดับ 1 สิงคโปร์ 84.8 คะแนน
อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา 83.7 คะแนน
อันดับ 3 ฮ่องกง 83.1 คะแนน
อันดับ 4 เนเธอร์แลนด์ 82.4 คะแนน
อันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ 82.3 คะแนน
อันดับ 6 ญี่ปุ่น 82.3 คะแนน
อันดับ 7 เยอรมนี 81.8 คะแนน
อันดับ 8 สวีเดน 81.2 คะแนน
อันดับ 9 สหราชอาณาจักร 81.2 คะแนน
อันดับ 10 เดนมาร์ก 81.2 คะแนน
ส่วนประเทศที่มีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันสูงที่สุด 10 อันดับแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ได้แก่
อันดับ 1 สิงคโปร์ 84.8 คะแนน
อันดับ 2 ฮ่องกง 83.1 คะแนน
อันดับ 3 ญี่ปุ่น 82.3 คะแนน
อันดับ 4 ไต้หวัน 80.2 คะแนน
อันดับ 5 เกาหลีใต้ 79.6 คะแนน
อันดับ 6 ออสเตรเลีย 78.7 คะแนน
อันดับ 7 นิวซีแลนด์ 76.7 คะแนน
อันดับ 8 มาเลเซีย 74.6 คะแนน
อันดับ 9 จีน 73.9 คะแนน
อันดับ 10 ไทย 68.1 คะแนน
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลคะแนนของประเทศไทย ผ่านตัวชี้วัด 12 ด้าน ใน 4 มิติเป็นดังนี้
1. มิติสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
ประเทศไทยได้คะแนนรวม 273 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน โดยคะแนนจากตัวชี้วัดในแต่ละด้านเป็นดังนี้
– ด้านสภาพแวดล้อมของหน่วยงานลดลงจาก 55.1 เป็น 54.8 คะแนน ส่งผลให้อันดับในด้านนี้ลดลงจาก 60 มาอยู่ที่ 67 ของโลก
– ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คะแนนของไทยลดลงจาก 69.7 คะแนน อยู่ที่ 67.8 คะแนน อันดับขยับลงมาจากที่ 60 มาอยู่ที่ 71 ของโลก
– ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปีนี้ไทยมีคะแนนดีขึ้นจาก 56.6 เป็น 60.1 คะแนน ส่งผลให้อันดับขยับขึ้นมาจาก 64 มาอยู่ที่ 62 ของโลก
– ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 89.9 เป็น 90.0 อันดับขยับขึ้นจาก 48 มาอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก
2.มิติทรัพยากรมนุษย์
ไทยได้คะแนนรวม 151 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน มาจาก
– ด้านสาธารณสุข ซึ่งมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 87.3 คะแนน เป็น 88.9 คะแนน โดยอันดับขยับขึ้นจาก 42 เป็น 38 ของโลก
– ด้านทักษะ ไทยมีคะแนนลดลงจาก 63 คะแนนเป็น 62.3 คะแนน ส่งผลให้อันดับของไทยลดลงจาก 66 มาอยู่ที่อันดับ 73 ของโลก
3. มิติตลาด
ไทยมีคะแนน 277 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน ซึ่งมาจาก
– ด้านการแข่งขันภายในประเทศ มีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 53.4 มาเป็น 53.5 คะแนน อันดับขยับขึ้นมาอยู่ที่ 84 จากเดิมอยู่ที่อันดับ 92 ของโลก
– ด้านตลาดแรงงาน มีคะแนนเท่ากับปีที่แล้วคือ 63.4 คะแนน อันดับตกจากที่ 44 มาอยู่ที่ 46 ของโลก
– ด้านระบบการเงิน มีคะแนนสูงขึ้นจาก 84.2 เป็น 85.1 แต่อันดับตกลงจากที่ 14 เป็นที่ 16 ของโลก
– ด้านขนาดของตลาด มีคะแนนสูงขึ้นจาก 74.9 คะแนน เป็น 75.5 คะแนน ส่วนอันดับยังคงที่ในอันดับที่ 18 ของโลก
4 มิติระบบนิเวศของนวัตกรรม
ประเทศไทยได้คะแนน 116 คะแนน จาก 200 คะแนน ซึ่งมาจาก
– ด้านการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ มีคะแนนสูงขึ้นจาก 71 คะแนน เป็น 72 คะแนน อันดับขยับขึ้นมาอยู่ที่ 21 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก
– ด้านความสามารถทางนวัตกรรม มีคะแนนสูงขึ้นจาก 42.1 คะแนน เป็น 43.9 คะแนน ส่วนอันดับสูงขึ้นจากที่ 51 เป็นอันดับที่ 50 ของโลก
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทางคณะฯ ได้เป็นสถาบันที่เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ World Economic Forum (WEF) ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี โดยได้รับสิทธิ์จัดการเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถการแข่งขันระดับโลก ซึ่งมีส่วนร่วม และบทบาทในการทำวิจัยระดับความสามารถของประเทศร่วมกับ WEF โดยจะนำไปคำนวณเป็นดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก
ซึ่งตัวเลขดัชนีชี้วัดในปีนี้เป็นผลสะท้อนจากการพัฒนาประเทศในปีที่ผ่านมา แต่บทสรุปของดัชนีต่างๆ คงไม่อยู่ที่ตัวเลขเพิ่มขึ้น หรือน้อยลงเท่านั้น เนื่องจากความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการพัฒนาประเทศตามลำพัง แต่เกิดจากความสามารถในเชิงเปรียบเทียบกับการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ด้วย แม้ว่าระดับความสามารถของประเทศเพิ่มขึ้นแต่บริบทของเศรษฐกิจโลกก้าวพัฒนาไปมากกว่า จึงต้องอาศัยกลยุทธ์การพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้ทำการวิเคราะห์ตัวชี้วัดทั้งหมดจากผลข้อมูลของ WEF พบว่า หากมีการเร่งพัฒนาในเรื่องของการลดการทุจริต ปรับปรุงคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะของคนในประเทศ และมีนโยบายที่ช่วยลดช่องว่างในการแข่งขันของตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีที่มีค่าถ่วงน้ำหนักมาก แต่ไทยยังทำได้ไม่ดีนัก จะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันได้
ขณะที่การพัฒนาการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และการมีสุขภาพดีอายุที่ยืนยาวของคนในประเทศ เป็นดัชนีที่มีค่าถ่วงน้ำหนักมาก โดยไทยทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีกได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดด และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นต่อไปได้