Monday, October 2, 2023
More

    สิ่งประเสริฐในตัวเรา

    เห็นข่าวคราวของนักเรียนในจังหวัดลพบุรีที่พากันโดดเรียนกันยกชั้นเรียน ทั้งระดับประถม มัธยมไปจนถึงอาชีวะ เพื่อไปดูภาพยนตร์ในห้างสรรพ-สินค้าชื่อดังของจังหวัดที่จัดโปรโมชั่น ลดราคาตั๋วหนังเพียง 25 บาท ทำเอาเด็กเยาวชนพากันโดดเรียนยกห้อง จนครูและสารวัตรนักเรียนต้องไปตามกันถึงในโรงแล้วก็อนาถใจแทนครับ

    แม้จะเป็นเยาวชนที่อาจจะไม่ได้คิดอ่านอะไรแค่ตามเพื่อน แต่ก็ทำเอาผู้ปกครองต้องเดือดร้อนไปตามๆ กันเพราะโรงเรียนต้องจับทำประวัติก่อนเชิญตัวผู้ปกครองมารับตัวกลับไปเรียน


    อ่านแล้วเลยคิดไปถึงอาจาริยวาทของ พระพรหมมงคลญาณ วิ. (หลวง-พ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ประธานมูลนิธิสถาบันพลังจิตตานุภาพ ได้เทศนาสั่งสอนเป็นข้อคิดให้แก่เด็กนักเรียนและนักศึกษาที่มาฟังเทศนาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 และมีบันทึกเอาไว้ใน “ธรรมะรุ่งอรุณ” โดยพระอาจารย์ได้ฝากเป็นข้อคิดว่า คนเราเกิดมาทำไม? และความดีคืออะไร?

    ความดีนั้น อันดับแรกคือร่างกายและจิตใจของเราที่เรียกว่า “มนุษย์” ถือเป็นความดีที่ได้มาโดยยาก จะเห็นว่าเราจะเดินไปไหนมาไหนได้ รับประทานได้ วิ่งเล่นได้ ทำอะไรต่างๆ ได้นั้น ล้วนเกิดมาจากความดี คือร่างกายนี้บริสุทธิ์ ร่างกายกับจิตใจที่ต่างก็เกื้อกูลกันอยู่

    “เราได้ร่างกายและจิตใจมานี้เป็นของประเสริฐแล้ว หากทอดทิ้งไปเสียก็กลายเป็นของที่เลวก็ถือว่าผิด แต่ถ้าเราทำร่างกายและจิตใจของเรานี้ให้เกิดคุณธรรมความดีต่างๆ แล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูก ความผิดและถูกนั้นอยู่ใกล้กันแค่นิดเดียว จากถูกก็กลายเป็นผิดได้ อย่างเช่น เขามายุยงให้เสพยาเสพติด ถ้าเราเสพเข้าไปนิดเดียวก็ติดจริงๆ ถือว่าทำผิดต่อร่างกาย ผิดศีลข้อที่ 5 ความถูกผิดก็อยู่ควบคู่กันเมื่อเราทำความถูกต้อง ความผิดหวังก็ถอยหลังไป”

    แต่พอเวลาเราทำในสิ่งที่เลวขึ้นมา ความถูกก็ถอยหลังไปเช่นกัน แล้วความผิดและถูกนี้เวลาที่เกิดผลออกมา จะเกิดคนละอย่าง ความผิดนั้นมีผลเป็นโทษทำให้ร่างกายเสียทรัพย์สิน เสียเวลา เสียอะไรหลายๆ อย่าง ขณะที่หากเป็นความถูกต้อง เราก็มีความสุขสมบูรณ์จะไปไหนมาไหนก็ได้อย่างนี้เป็นต้น

    “หน้าที่ของนักเรียนทั้งหลายก็เช่นกัน ไม่มีอะไรมากนอกจากการเรียน ก็เพื่อประโยชน์ของตัวเราไม่ใช่ของใครอื่น แต่บางคนก็ละเลยไม่พยายามที่จะเรียน อันนั้นก็ถือว่าผิด ถ้าหากว่าตั้งใจเรียนให้จบให้ได้รับความรู้จริงๆ ก็ถือว่าถูก”

    การที่เรารับประทานอาหารกันทุกวันก็เพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย ในขณะเดียว กันก็ต้องรู้จักบำรุงเลี้ยงใจด้วย แต่ที่ผ่านมาเราปล่อยปละละเลย เลี้ยงใจกันไม่เป็น ซึ่งอาหารของใจนั้นคือ “พลังจิต” พลังจิตนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เกิดขึ้นได้หนทางเดียวก็คือการทำสมาธิ “อาหารกายนั้นแสดงออกเมื่อเกิดความหิว เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ต้องรับประทานอาหาร ถ้าไม่ทานก็เกิดความหิว ความโหยก็ไม่หายไป แต่อาหารใจนั้น ถึงจะโหยหาอย่างไรก็ไม่ได้แสดงออกมา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทำสมาธิ ซึ่งภาษาที่ชาวบ้านก็คือการทำบุญนั่นเอง”

    “คิดดูเอาก็แล้วกันว่าร่างกายของเรานั้นหากไม่มีอาหารสักมื้อสองมื้อ หรือสักวันสองวันจะเกิดอะไรเกิดขึ้น อาการหิวโหย อ่อนเพลีย ทรุดโทรมของร่างกายก็จะเกิดตามมา เช่นเดียวกันกับใจของเราเช่นกัน หากขาดอาหารใจขึ้นมาก็เกิดความโศก อาลัยในของรักของหวง ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้ดั่งใจก็เสียใจ แต่ถ้าหากเรามีกำลังใจมีพลังจิตที่เกิดจากสมาธิความเสียใจก็จะลดน้อยลง”

    ลองสังเกตดูเวลาที่เราทำสมาธิจะรู้สึกสงบนิ่ง สบาย เป็นเพราะว่าพลังจิตได้เกิดขึ้นแก่ใจเรานั่นเอง ฉะนั้นในเรื่องของอาหารใจจึงเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ มีโอกาสเมื่อไหร่ต้องให้อาหารใจ

    การให้อาหารใจหรือการทำบุญทำกุศลนั้นเป็นที่พึ่งที่อาศัยของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ “บุญญานิ ปาระโลกัสมิง ปติฏฐาโหนติ ปาณินัง” บุญเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

    เราต้องหาประโยชน์จากร่างกายและจิตใจให้ได้ เพราะว่าเราได้ร่างกายมานี้ด้วยความยากจึงต้องรักษาเอาไว้ให้ดีที่สุด ที่พึ่งที่เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลนั้นจึงเป็นที่พึ่งถาวร ยิ่งสะสมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีพลังที่กว้างใหญ่ไพศาล

    คนเรานั้นเกิดมาไม่เหมือนกัน บางคนยากจน บางคนร่ำรวย อันนี้เป็นเรื่องของบุญกรรมต่างๆ ที่เราได้สะสมมาตั้งแต่อดีตชาติแล้วก็ส่งผลมาถึงเราในปัจจุบัน ฉะนั้นหากว่าสร้างแต่ความไม่ดี หรือสร้างบาป เท่ากับว่าทำให้ตัวของเราขาดที่พึ่งพิง ด้วยเหตุดังกล่าวองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงแนะนำให้ตั้งอยู่ใน “อัปปมาทธรรม” คือความไม่ประมาท ไม่ประมาทว่าเรายังเด็กยังเล็ก ยังไม่ต้องทำความดี อย่างนั้นไม่ถูก

    “เพราะว่าชีวิตของคนเราเป็นสิ่งไม่แน่นอน เด็กก็ตายได้ ผู้ใหญ่ก็ตายได้ เมื่อตายก็แล้วกันไป ร่างกายก็สูญสิ้น เมื่อใจออกจากร่างไปแล้วอย่างนี้ “นิรัตตะถังวะ กะลิงคะรัง” มันก็เปรียบเสมือนท่อนไม้ท่อนฟืน ส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่นี้จึงถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ” จึงควรต้องรักษาลาภอันประเสริฐอันนี้เอาไว้”

    ฝากเป็นข้อคิดให้เด็กๆ เยาวชนทั้งหลายกันครับ!