กระทรวงแรงงานมีมติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ประกาศใช้ในปี 2563 โดยกรุงเทพฯ ปรับขึ้นจากเดิม 6 บาทเป็น 331 บาทต่อวัน ขณะที่ผลสำรวจค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลกพบว่า ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.6% อย่างไรก็ตาม คนไทยยังต้องเผชิญต้นทุนอาหารพื้นฐาน ซึ่งคิดเป็น 51.6% ของค่าแรงขั้นต่ำสุทธิต่อเดือน
เคาะแล้ว! ค่าแรงขั้นต่ำคนกรุง 331 บาท/วัน
จากรายงาน “ค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลก” ที่จัดทำโดย Picodi.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อศึกษาว่าเงินจำนวนนี้จะเพียงพอสำหรับใช้จ่ายเพื่อความสะดวกสบายขั้นพื้นฐานหรือไม่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศต่างๆ ในปี 2563 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ ไทย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.6%
โดย Picodi เปิดเผยว่า จากการศึกษาใน 54 ประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำ พบว่า ประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ไนจีเรีย เพิ่มขึ้น 64.8% (ค่าแรงขั้นต่ำ 74 USD), อาเซอร์ไบจาน เพิ่มขึ้น 37.7% (ค่าแรงขั้นต่ำ 140 USD) และอาร์เจนตินา เพิ่มขึ้น 37.1% (ค่าแรงขั้นต่ำ 253 USD) ส่วนประเทศไทย ค่าแรงขั้นต่ำสุทธิต่อเดือนสูงกว่าปีที่แล้ว 1.6% ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 45 ของโลก โดยค่าแรงขั้นต่ำ ณ ต้นปี 2563 อยู่ที่ 223 USD (6,741 บาท สำหรับพนักงานทำงานเต็มเวลา) ด้านองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สหประชาชาติ คาดว่า ปี 2563 จะมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 190.5 ล้านคน จาก 188 ล้านคนในปี 2562 โดยแรงงานที่มีรายได้น้อยกว่า 3.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 97 บาทต่อวัน ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2563-64
นอกจากนี้ยังพบว่า มีคนหนุ่มสาวจำนวน 267 ล้านคนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ไม่ได้อยู่ในการจ้างงาน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ขาดการศึกษาและฝึกอบรมที่มีมาตรฐาน จึงทำให้ไม่พร้อมสำหรับงานที่ดี ขณะที่กระทรวงแรงงาน มีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 ได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 10 ระดับ โดยสูงสุดอยู่ที่ระดับที่ 1 ค่าจ้าง 336 บาท มี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และภูเก็ต ตามด้วยระดับที่ 2 ค่าจ้าง 335 บาท มี 1 จังหวัด คือ ระยอง ส่วนกรุงเทพมหานคร อยู่ระดับที่ 3 ค่าจ้าง 331 บาท ร่วมกับ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ต้นทุนอาหารสูงเกินครึ่งของค่าแรง
จากผลสำรวจพบว่า ต้นทุนผลิตภัณฑ์อาหารพื้นฐานของคนไทย คิดเป็น 51.6% ของค่าแรงขั้นต่ำสุทธิต่อเดือน โดยคิดจากราคาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยสินค้า 8 รายการ ได้แก่ ขนมปัง นม ไข่ ข้าว ชีส เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ แม้ว่ารายการสินค้านี้จะมีจำนวนน้อย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตรงกับความต้องการทางโภชนาการของผู้ใหญ่ และราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องทั่วโลก
ในช่วงต้นปี 2563 ราคาอาหารจากรายการมีดังนี้ นม (10 ลิตร) – 511 บาท, ขนมปัง (10 ก้อน) หรือปลาทูสด 3 กิโลกรัม 373 บาท, ข้าว (1.5 กก.) – 55 บาท, ไข่ (20) – 82 บาท, ชีส (1 กิโลกรัม) หรืออาหารกระป๋อง 4 กิโลกรัม 570 บาท, เนื้อไก่และเนื้อวัว (6 กก.) – 1,217 บาท, ผลไม้ (6 กก.) – 356 บาท และ ผัก (8 กก.) – 314 บาท โดยราคารวมของผลิตภัณฑ์อาหารพื้นฐานมีจำนวน 3,478 บาท
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าแรงขั้นต่ำกับต้นทุนของผลิตภัณฑ์อาหารพื้นฐานในประเทศไทย พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำสุทธิ ซึ่งอยู่ที่ 6,741 บาท แต่คนไทยต้องจ่ายค่าผลิตภัณฑ์อาหารพื้นฐาน 3,478 บาท คิดเป็น 51.6% ของค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับ ซึ่งแทบจะไม่เพียงพอสำหรับต้นทุนของอาหารธรรมดาที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อย่างไรก็ตาม เป็นจำนวนที่ลดลงจากปีที่แล้ว 4.8% นั้นหมายความว่า ในประเทศไทยราคาสินค้าบริโภคขั้นพื้นฐานลดลง และค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
คนไทยหมดเงินค่าอาหารสูงสุด
เมื่อเปรียบเทียบราคาของผลิตภัณฑ์เดียวกันในหลายๆ ประเทศ และตรวจสอบงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่จำเป็น พบว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้ายจากการเปรียบเทียบนี้ ต้องจ่ายเพื่อผลิตภัณฑ์อาหารพื้นฐานประมาณ 51.6% ของเงินเดือนสุทธิ รั้งอันดับ 47 ของโลก จาก 54 ประเทศ
ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำทั่วโลก ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศต่างๆ รวมถึงการจัดเก็บภาษีนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ เช่น ในฟิลิปปินส์และฮ่องกง ค่าแรงขั้นต่ำได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นต้น
เมื่อมองภาพรวมจะเห็นว่า รายจ่ายของคนไทยหมดไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มสูงมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับระดับบุคคลที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราส่วนราคาอาหารเท่ากัน พบว่า แรงงานไทยต้องเสียค่าอาหารเกินครึ่งจากค่าจ้าง ซึ่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย เพราะอาหารคือปัจจัยสำคัญเพื่อการดำรงชีพ แต่อำนาจการซื้อแทบไม่มีอยู่ในมือ นับเป็นปัญหาวิตกกังวลของคนไทยมาตลอด
แม้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะพอทุเลาปัญหาสินค้าราคาแพงได้บ้าง แต่หากภาครัฐมีมาตรการดูแลเรื่องความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างจริงจังกว่านี้ ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกฝืดเคืองในการจับจ่ายใช้สอยด้วยรายได้ที่สวนทางกับค่าครองชีพ
สัมภาษณ์
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน
“คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้น 6 บาท ใน 9 จังหวัด คือชลบุรี, ภูเก็ต, ปราจีนบุรี, กรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนที่เหลือ 68 จังหวัด ปรับขึ้น 5 บาท ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดอยู่ที่ 336 บาท คือ ชลบุรีและภูเก็ต ต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 331 บาท”