หัวหิน น่าจะเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่หลายๆ คนน่าจะเคยมีประสบการณ์ในการไปเยือนกันอยู่บ้าง เพราะเป็นพื้นที่สำคัญในด้านการท่องเที่ยวที่มีสถานที่สวยๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชายหาดที่มีท้องทะเลสีครามกว้างไกล, ตลาดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารการกิน, สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ ทั้งยังอยู่ในระยะที่ไม่ไกลจากเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ทำให้ยากที่จะเชื่อว่าเมืองที่เต็มไปด้วยความศิวิไลซ์ และมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวมากมาย จะยังคงมีพื้นที่ห่างไกลความเจริญแฝงตัวอยู่อย่างเงียบสงบ รอให้เราเข้าไปค้นพบความหมายของความเรียบง่าย พอเพียง และการช่วยเหลือกันและกันของคนในพื้นที่ อย่างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ (รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ) ที่เป็นศูนย์กลางหลักในการกระจายทรัพยากร, การศึกษา, วัฒนธรรม ฯลฯ ของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะหร่างที่อพยพเข้ามาจากบริเวณตะเขบชายแดนของประเทศ
โดยการจะเข้ามาที่โรงเรียนแห่งนี้นั้น หากนับจากศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เราจะต้องผ่านระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนลาดยาง 95 กิโลเมตร และถนนลูกรัง 15 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที นับเป็นพื้นที่ที่มีความทุรกันดาร มีความลำบากทางการคมนาคม และการเข้าไม่ค่อยถึงของสัญญาณสื่อสาร ซึ่งรร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ ถือเป็นเขตบริการที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งส่วนของบ้านแพรกตะคร้อที่มีจำนวนครัวเรือน 339 ครัวเรือน ประชากร 1,201 คน แบ่งเป็นผู้ชาย 603 คน และผู้หญิง 598 คน กับส่วนบ้านท่าไม้ลาย ที่มีจำนวนครัวเรือน 165 ครัวเรือน ประชากร 226 คน เป็นผู้ชาย 120 คน เป็นผู้หญิง 106 คน และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ใกล้ที่สุดจากโรงเรียนจะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านแพรกตะคร้อที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร
ซึ่งนายสวัสดิ์ ชูยิ้ม อดีตผู้ใหญ่บ้านแพรกตะคร้อ หมู่ 11 ได้เล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า ก่อนที่จะมีการก่อตั้งรร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ ขึ้นมานั้น มีเด็กหลายคนในหมู่บ้านไม่มีที่เรียน ทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง และใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าซในการสร้างแสงสว่างช่วงกลางคืน ทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเป็นชาวกะหร่างที่อพยพจากแนวตะเขบชายแดน ที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่ทางอดีตผู้ใหญ่บ้าน
และนายมนตรี วชิระ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ได้ทุ่มเททำงานอย่างหนักเพื่อให้ชาวบ้านได้มีสัญชาติไทย โดยตั้งเป้าให้ทุกคนได้ถือสัญชาติไทยทั้งหมดภายใน 1-2 ปีนี้
เพราะเดิมทีเขตบ้านแพรกตะคร้อนั้นถือเป็นเขตพื้นที่ปลอดภัยทางทหาร จนในปี พ.ศ.2541 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเข้ามาเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยในตอนนั้นทางราษฎรบ้านแพรกตะคร้อได้ยื่นถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และด้านสุขอนามัยแก่เด็กและราษฎร ทำให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 รับสนองพระราชกระแส และอนุมัติการจัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 โดยใช้ชื่อว่าโรงเรียนบ้านแพรกตะคร้อ (สาขาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายเดนนเรศวรห้วยผึ้ง) ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ
ปัจจุบันทางโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา มีนักเรียนทั้งหมด 265 คน แบ่งเป็นนักเรียนชาย 127 คน นักเรียนหญิง 138 คน มีบุคลากรเป็น ครู ตชด. 9 คน ผู้ดูแลเด็ก 2 คน ครูคู่พัฒนา 1 คน เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานโครงการสุขศาลาพระราชทาน 1 คน ทำให้ถึงจะเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตทุนกันดาร แต่ด้วยความใส่ใจจากบุคลลากรทุกคน ทำให้ครูในโรงเรียนแห่งนี้เป็นมากกว่าครูผู้สอน และกว่าจะเข้ามาทำหน้าที่สอนนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ได้ ครู ตชด. ทั้ง 9 คน ต้องผ่านการฝึกอบรบในหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง, การเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ฯลฯ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะนำความรู้ในด้านต่างๆ มาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
อย่างส.ต.ท.กรวิชย์ เข็มกลัด (ครูบอล) ที่ได้บอกกับสื่อมวลชนที่มาลงพื้นที่ว่านอกจากบทบาทหน้าที่ของการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนแล้ว ทางตัวเขาเองยังสอบติดโครงการครูคุรุทายาท (รุ่น14) ซึ่งต้องเข้ารับการฝึกทั้งหมด 13 เดือนถึงจะเข้ามาสอนนักเรียนในโรงเรียนได้
ทั้งในช่วงก่อนเปิดภาคการศึกษายังได้รับความร่วมมือจากคณะครูในมหาวิทยาลัยราชภัทรเพชรบุรีที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางโครงสร้างหลักสูตรในการเรียนการสอนก่อนเปิดภาคการศึกษาอีกด้วย หรือในช่วงปิดภาคการศึกษาก็ยังมีการจัดให้นักเรียนหมุนเวียนกันเข้ามาดูแลในส่วนของโครงการต่างๆ ที่ดำเนินงานอยู่ในโรงเรียนอย่างไม่ขาดหาย
โดยทุกวันนี้ทางโรงเรียนมีการปฎิบัติงานตามโครงการพระราชดำริ 8 โครงการดังนี้
1. โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จะมีทั้งการปลูกผืชผัก เลี้ยงสัตว์อย่างสุกร, ปลาดุก, ไก่พันธุ์ไข่ เพื่อนำผลผลิตมาประกอบอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ทั้งยังให้นักเรียนได้นำผลผลิตทางการเกษตรกลับไปใช้กับครัวเรือนของตัวเองด้วย
2. โครงการส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษา มีกิจกรรมห้องสมุด กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะพื้นฐานเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะติดการใช้ภาษากะหร่างในการสื่อสาร
3. โครงการในพระราชานุเคราะห์ฯ ซึ่งจะมีการตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว และตัวนักเรียนอยู่เสมอ
4. โครงการส่งเสริมสหกรณ์ มีร้านค้าสหกรณ์ที่เปิดให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนในการเรียนรู้หลักการสหกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการนำผลผลิตจากโครงการเกษตรมาขาย นำผลิตภัณฑ์ชุมชนจากชาวบ้านในพื้นที่มาวางขายเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้
5. โครงการฝึกอาชีพ มีการทอผ้าพื้นเมืองกี่เอว และการตัดผมชาย/หญิง ในชั่วโมงการเรียนรู้ฝึกอาชีพ
6. โครงการคุมโรคขาดสารไอโอดีน ที่จะทำการตรวจคัดกรองสุขภาพร่างกายของนักเรียนอยู่เสมอ และได้มีการให้บริการน้ำที่มีการหยดสารไอโอดีนในจุดบริการน้ำดื่มฟรีของโรงเรียน
7. โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดิน, ติดป้ายพันธุ์ไม้ในโรงเรียน, เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามความเหมาะสม
8. โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร มีการส่งเสริมโภชนาการของนักเรียน ประชาชนในพื้นที่โรงเรียน ทำการดูแลสุขอนามัยของแม่และเด็กก่อนที่จะได้รับการศึกษาในโรงเรียน
โดยทุกโครงการตามพระราชดำรินั้น ไม่ได้เปิดให้แค่นักเรียนได้มีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ยังมีการขยายผลโครงการไปสู่ชุมชน สร้างการรับรู้และมีการจัดสรรทรัพยากรที่เกิดจากการดำเนินงานตามโครงการในโรงเรียนไปสู่ครัวเรือนของนักเรียนเอง เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และลดการอพยพของแรงงานหนุ่มสาวที่ต้องดั้งด้นเข้าไปทำงานหารายได้ในตัวเมือง
จนปฎิเสธไม่ได้ว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ (รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ) นับเป็นศูนย์กลางของทุกคนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร, วิถีชีวิต, วัฒนธรรม ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
โดยประสบความสำเร็จในที่นี้อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของตัวชี้วัดทางตัวเลข หรือความสำเร็จด้านการบริหารงาน แต่ยังหมายรวมถึงรอยยิ้ม ความจริงใจ และความสามัคคีที่เราสัมผัสได้จากนักเรียน ครู.ตชด ผู้ใหญ่ในพื้นที่ ตลอดจนผู้มีส่วนร่วมในหมู่บ้านทุกคนที่เต็มใจมาต้อนรับ ดูแล และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สื่อมวลชนทุกคน
ซึ่งมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสถึงชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ (รร.ตชด.บ้านแพรกตะคร้อ) โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เป็นแบบอย่างชั้นดีในการนำไปปรับใช้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ
การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาดูงานโครงการตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่จัดโดย สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ