Friday, December 1, 2023
More

    “โรคอ้วน” ภัยคุกคามชีวิต จุดเริ่มของสุขภาพแย่ ภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรค NCDs

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดเสวนาเรื่อง สถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย เนื่องใน “วันอ้วนโลก” (World Obesity Day) ตรงกับวันที่ 4 มีนาคม เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงภัยเงียบที่แผงมากับพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยง จนทำให้เกิดน้ำหนักเกินและเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs

    คนไทยมีภาวะ “อ้วน” ถึง 19.3 ล้านคน

    ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบคนอ้วนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสุขภาพที่เป็นสำคัญ ขณะเดียวกันในช่วง 20 ปีผ่านมา ประเทศไทยพบผู้ใหญ่และเด็กมีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานจำนวนมาก เหตุมาจากการรับประทานอาหารหรือบริโรคเกิดความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ ซึ่งในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน พบคนไทยถึง 19.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกินถึง 20.8 ล้านคน “อ้วนลงพุง” หรือคิดเป็นร้อยละ 37.5 ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค NCDs


    ทาง “สหพันธ์โรคอ้วนโลก” (World Obesity Federation) ได้กำหนดให้มี “วันอ้วนโลก” ตรงกับวันที่ 4 มี.ค. เพื่อเป้าหมายให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยคุกคามจาก น้ำหนักเกินเพราะความอ้วน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสุขภาพที่ไม่ดี ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์อาจจะมีปัญหาต่อสุขภาพจิต เช่น เครียด ซึมเศร้า ถ้าทุกคนรู้วิธีป้องกันและดูเรื่องอาหารการกิน พร้อมทั้งทำกิจกรรมออกกำลังกาย จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงได้

    การรับประทานอาหาร คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคอ้วน

    ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และนักโภชนาการอิสระ เปิดเผยว่า การใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเกิดโรคอ้วนได้ เนื่องจากการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ บริโภคของ มัน เค็ม มากเกินไปใช้ชีวิตไม่สมดุล ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีส่วนทำให้เกิดน้ำหนักตัวเกินและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

    สำหรับโรคอ้วนที่เกิดจากพันธุกรรมนั้น ทางการแพทย์พบว่า อยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย สิ่งที่ดีที่สุด คือการกินผัก ผลไม้ให้ได้วันละ 400 กรัม ทำกิจกรรมทางกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี ซึ่งโรคอ้วนถือเป็นต้นต่อที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย เก๊าท์ ตับแข็ง

    ผู้ป่วยโรคอ้วนมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนปกติ เสี่ยงต่อเป็นโรคได้ง่ายโดยเฉพาะ NCDs

    รศ.พญ.พิมพ์ใจ อันทานนท์ กรรมการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์พบว่า กลุ่มคนที่มีสภาวะอ้วน จะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ หากติดเชื้อโควิด-19 อาจจะมีอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุงแรงเป็นกลุ่มแรกๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรกๆ ที่เป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรค NCDs

    เคล็ดลับสำหรับ คนอ้วนที่อยากลดน้ำหนัก เพื่อสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดี

    พ.ท.หญิง พญ.สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เผยว่า ทุกคนสามารถป้องกันโรคอ้วนได้ โดยเลือกรับประทานอาหารที่พอเหมาะ ให้ได้พลังงานที่เพียงพอกิจกรรมที่ทำให้แต่ละวัน คนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนัก สามารถลดปริมาณอาหารที่กินให้น้อยลงได้ ด้วยการเลือกรูปแบบการกินอาหาร เช่น แบบอาหารคีโต (Keto diet) กินแบบจำกัดเวลาหรืองดอาหารช่วงเย็นในแต่ละวัน หรืออาหาร 2:1:1 แต่ควรกินให้ถูกหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้เกินโทษกับร่างกาย

    ด้าน น.ส.อรณา จันทรศิริ นักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เผยว่า การมีกิจกรรมทางกาย หมายถึง กิจกรรมที่มีการใช้พลังงานในทุกรูปแบบ “ทุกขยับนับหมด” สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะเมื่อมีเวลาออกกำลังกาย ซึ่งการมีกิจกรรมทางกาย มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเผาพลาญ ช่วยลดไขมัน ควบคุมน้ำหนัก และป้องกันโรคเรื้อรังได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่แข็งแรงและจิตแจ่มใส โดยคนอ้วนสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยวิธี เช่น เริ่มเดินให้ครบ 8,000 – 10,000 ก้าวต่อวัน จากนั้นให้คิดถึงโอกาสที่จะพิชิตเป้าหมายแต่ละวันให้สำเร็จ เช่น การชวนเพื่อนที่ออกกำลังอยู่แล้ว ไปออกกำลังกายด้วยกัน หาสถานที่และปรับวิถีชีวิตให้สามารถมีกิจกรรมทางกายได้จนเป็นนิสัย