โรคภูมิแพ้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน ประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ มีตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ และคนวัยทำงาน ซึ่งโรคภูมิแพ้ในวัยทำงานที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคโพรงจมูกและเยื่อบุตาอักเสบ ผื่นคันตามร่างกาย ทั้งผื่นแบบลมพิษ จนถึงผื่นคันเรื้อรังเป็นสะเก็ดหรือน้ำเหลือง จนถึงโรคหืด อาการของโรคจมูกอักเสบที่พบได้บ่อย ได้แก่ คันตามเยื่อบุจมูกและตา จาม น้ำมูกไหลและคัดจมูก แต่พบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการจามและน้ำมูกไหลเพียงบางครั้ง แต่เยื่อบุจมูกมีการอักเสบเรื้อรังจนมีอาการคัดจมูก ส่งผลให้มีอาการอื่น ๆ เช่น หายใจทางปากแทนจมูก ส่งผลให้คอแห้ง ปากแห้ง ปากแตก ต้องเลียริมฝีปากบ่อยครั้ง หูอื้อ ปวดศีรษะ กระแอมเหมือนมีเสมหะในลำคอ หากเป็นมากเข้า อาจทำให้เป็นหวัดบ่อย จนถึงกลายเป็นไซนัสอักเสบได้
อาการที่เกิดจากคัดจมูกนี้ อาจดูไม่รุนแรง แต่พบว่าการคัดจมูกเรื้อรัง มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ทำให้นอนไม่อิ่ม มีอาการง่วงกลางวัน แม้จะพยายามเพิ่มระยะเวลาในการนอนให้นานขึ้นก็ตาม ส่งผลต่อสมรรถภาพในการเรียนและการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพและสมาธิในการเรียนและทำงานลดลง บางรายที่มีอาการมากอาจส่งผลต่อความมั่นใจ ทำให้เสียบุคลิกภาพ และมีปัญหาในการเข้าสังคมและการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงหากนอนหลับไม่เพียงพอต่อเนื่องนานๆ อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
นอกจากนี้พบว่าคนไข้ที่มีโรคภูมิแพ้ทางจมูก มักมีอาการทางระบบอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน เช่น อาการคันตา ตาแดง น้ำตาไหล หรือภาวะผิวแห้ง คันง่าย เกิดผื่นแดงคันเรื้อรัง หรือบางรายมีผื่นลมพิษร่วมด้วย ซึ่งอาการในระบบต่างๆ เหล่านี้อาจรบกวนคุณภาพชีวิตของคนไข้ได้มากไม่แพ้อาการทางจมูก
หากมีอาการดังกล่าวและสันนิษฐานว่าเป็นอาการของโรคภูมิแพ้ ควรดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยวิธีปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้และลดการสัมผัสสารมลพิษควบคู่กับการรักษาด้วยยา ไรฝุ่นเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุหลักของโพรงจมูกอักเสบในประเทศไทย ซึ่งพบมากในหมอน ผ้าห่ม เตียง ผ้าม่าน พรม จนถึงหนังสือและของเล่นเก่า ๆ ห้องนอนเป็นห้องที่ควรปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรก โดยควรเลือกใช้ฟูกที่นอนที่บุด้วยใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงขนสัตว์ นำหมอนเก่า ตุ๊กตาเก่า พรมและหนังสือที่ไม่จำเป็นออกจากห้องนอน ควรซักล้างผ้าปูเตียง ปลอกหมอน ผ้าห่มและผ้าม่านอย่างสม่ำเสมอและให้อากาศภายในห้องถ่ายเท ไม่อับชื้น ส่วนมลพิษที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียและกลิ่นฉุน
ยารักษาที่แนะนำมี 2 กลุ่มได้แก่ ยาต้านฮีสตามีนแบบรับประทานและยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก ยาต้านฮีสตามีน มีประสิทธิภาพในการลดอาการคัน จาม แนะนำให้ใช้ยารุ่นใหม่ ซึ่งไม่ทำให้ง่วง ไม่แนะนำให้รับประทานยารุ่นเก่าติดต่อกันนานๆ เนื่องจากมีผลต่อภาวะการนอนหลับและการรับรู้ของสมอง ทำให้สมาธิในการเรียนและการทำงานลดลง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับรถหรือการทำงานได้
ส่วนยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก เป็นยาหลักในการรักษาโพรงจมูกอักเสบที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และสามารถลดอาการของโพรงจมูกอักเสบได้ทุกอาการ แนะนำให้รักษาด้วยยาสเตียรอยด์พ่นจมูกในรายที่อาการภูมิแพ้รบกวนคุณภาพชีวิต เช่น รำคาญ เหนื่อย เพลีย นอนไม่อิ่ม หรือสมาธิในการทำงานลดลง โดยแนะนำให้รักษานานประมาณ 2-4 เดือน หากอาการดีขึ้นให้ลดยา และใช้ตามอาการ
ในคนที่มีอาการทางผิวหนัง ร่วมกับมีอาการผิวแห้ง และคัน แนะนำให้ดูแลเบื้องต้นด้วยการดูแลผิวหนังไม่ให้แห้ง โดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และโลชั่นให้เหมาะสม เนื่องจากการดูแลผิวให้ชุ่มชื้นจะมีประโยชน์ในการลดอาการคัน และเป็นกำแพงป้องกันไม่ให้สารก่อภูมิแพ้เข้าในผิวหนังเพื่อกระตุ้นอาการทางภูมิแพ้เพิ่มเติม
หากปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นของภาวะโพรงจมูกอักเสบ เช่น การติดเชื้อไซนัสอักเสบเรื้อรัง โพรงจมูกคด ริดสีดวงจมูก ภาวะจมูกตันจากฮอร์โมนและการตั้งครรภ์ เยื่อบุจมูกแห้งจนถึงจมูกอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดในเยื่อบุจมูกไวต่อสิ่งกระตุ้น รวมถึงอาจทดสอบภูมิแพ้เพื่อยืนยันหาสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมขึ้น จนถึงอาจพิจารณารักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ในรายที่มีอาการรุนแรง
เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว อย่าลืมตรวจเช็คว่ามีอาการดังกล่าวหรือไม่ พร้อมทั้งสำรวจสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอนและที่ทำงานว่ามีสภาพเช่นไร แม้โรคภูมิแพ้จะไม่มีอันตรายต่อชีวิต แต่สามารถรบกวนคุณภาพชีวิต และลดประสิทธิภาพในการเรียนและทำงาน รวมถึงหากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ในรายที่มีอาการต่อเนื่องรุนแรงอาจพัฒนาเป็นโรคหืดได้ หากเป็นโรคหืดแล้วควรพบแพทย์เพื่อประเมินและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโรคหืดมีภาวะทุพพลภาพและมีโอกาสเสียชีวิตจากหืดกำเริบเฉียบพลันได้
[English]
Allergic Rhinitis in Working Age People
Allergic Rhinitis can be genetically transmitted or triggered by allergens in the environment and it affects people of all ages. The allergic rhinitis which is found in people of working age includes the inflammation of the nasal and eye membranes and skin rashes.
In chronic cases, the patients develop nasal congestion which, if left untreated, can affect their quality of sleep and lead to poor performance. Primary care can be done by changing the environment to reduce the allergens coupled with using medicines.
The recommended two groups of medicine are oral antihistamines and steroid nasal spray; new generations of antihistamines are preferable since they do not cause drowsiness. Steroid nasal spray is the main medicine for treating all types of sinusitis in cases where the symptoms affect the quality of life.