Tuesday, December 6, 2022
More

    แนวโน้มสุขภาพคนไทยยุคใหม่

    หนึ่งภาพลักษณ์ของคนยุคมิลเลนเนียมในประเทศแถบตะวันตก คือประชากรใช้ชีวิตแบบสนใจและรักสุขภาพ ขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียมในประเทศไทยกลับแตกต่าง ทั้งในแต่ละวันยังมีกิจกรรมทางกายเพียง 1.1 ชั่วโมง น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเจนอื่นๆ

    เปย์หนัก! สุขกับการกิน
    กลุ่มคนยุคมิลเลนเนียม หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 2525-2545 เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายด้านอาหารสูงสุดถึง 77% ของรายจ่ายทั้งหมด ขณะที่กลุ่มคนเบบี้บูมเมอร์ หรือผู้ที่เกิดปี 2486-2503 และกลุ่มเจนเอกซ์ หรือผู้ที่เกิดปี 2504-2524 ใช้จ่ายด้านอาหารเพียง 46.4% และ 40% ตามลำดับ


    ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตสมัยใหม่ทำให้การปรุงอาหารเองน้อยลง ในขณะที่การรับประทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จมีมากขึ้น ค่าใช้จ่ายอาหารจึงสูงตามไปด้วย

    องค์การอนามัยโลก จัดอันดับประเทศที่มีประชากรน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2559 พบว่า ไทยมีประชากรที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานหรืออ้วนมากถึง 32.2% ซึ่งนับเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ถ้าหากคำนวณจากประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 60 ล้านคน ประเทศไทยจะมีคนอ้วนถึง 19 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3

    ข้อมูลของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน เบาหวาน 4 ล้านคน และอีก 7.7 ล้านคนเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน การดำเนินชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น มีตัวช่วยผ่อนแรงและอำนวยความสะดวก ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานออกแรงของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของอาหารการกินที่คนในยุคนี้สามารถหาได้ง่าย รวมถึงรสชาติและปริมาณที่ทำให้เรากินมากขึ้นจนเกิดความอ้วนโดยไม่ทันได้รู้ตัว

    อารมณ์ดีสร้างสุขภาพดี
    ผลสำรวจแนวโน้มสุขภาพในประเทศไทย หรือ Thailand Health & Well Being Trend ล่าสุดเผยพฤติกรรมสุขภาพคนไทยพบว่า 37% ของผู้ตอบแบบสอบถามประเมินว่าตนเองมีความรู้ดีเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 51% และมีมากถึง 98% ที่ทราบดีว่าการออกกำลังกายเป็นประจำทำให้มีสุขภาพดี แต่มีเพียง 48% เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติได้จริง

    ในด้านการหาข้อมูล พบว่า อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เป็นแหล่งข้อมูลหลักด้านสุขภาพและ สุขภาวะของคนไทย ซึ่งสูงที่สุดในโลก โดยค้นหาจากอินเทอร์เน็ต มากถึง 91% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 63% ขณะที่โซเชียลมีเดีย 58% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 32%

    ส่วนนิยามหลักของการมีสุขภาพดีของผู้ตอบแบบสอบถาม คือ แข็งแรง ได้สัดส่วน ไม่เจ็บป่วย และมีอารมณ์ดี ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือคนไทยประเมินให้ “การมีอารมณ์ดี” คือนิยามหลักของสุขภาพที่ดีถึง 35% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 23%

    รี-สตาร์ทยังไม่สาย
    แม้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เทรนด์สุขภาพมาแรง ทั้งการออกกำลังกาย และอาหารคลีน แต่ยังเป็นส่วนน้อยมากที่ปฏิบัติจริงจังเมื่อเทียบกับพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ของคนยุคดิจิทัล ทั้งการติดโซเชียลมีเดีย พฤติกรรมเนือยเนื่อง นั่งหน้าคอมพ์ไม่ลุกไปไหน ซึ่งสามารถบั่นทอนสุขภาพในระยะยาว

    การมีพฤติกรรมทางกายที่เพียงพอเป็นหนึ่งในพฤติกรรมทางสุขภาพที่คนไทยจำนวนมากยังละเลย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเมื่อเทียบกับเจนอื่น ทั้งด้านสัดส่วนพฤติกรรมทางกายเพียงพอและจำนวนชั่วโมงในการมีพฤติกรรมทางกายแต่ละวัน

    อันที่จริง หลายภาคส่วนได้ผลักดันให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืนมาตลอด แต่สุดท้ายคนที่จะตัดสินใจทำพฤติกรรมคือตัวเราเอง คงดีกว่าหากเริ่มทำโดยไม่ต้องรอให้ใครมาเตือน ถ้าพร้อมแล้ว เริ่มกันเลย!


    นวลพรรณ ชัยนาม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด วัตสัน ประเทศไทย 
    “คนไทยมีความเข้าใจเรื่องสุขภาพแบบองค์รวมนับว่าเป็นสัญญาณดีที่จะส่งเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นต่อไป สิ่งที่น่าห่วงคือ การค้นข้อมูลจากโลกออนไลน์ ต้องให้แน่ใจว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ ดังนั้นการปรึกษาแพทย์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

    นพวรรณ แสงสว่าง พนักงานเอกชน อายุ 24 ปี
    “ส่วนตัวจะให้ความสำคัญด้านการออกกำลังกายมากที่สุด เพราะเชื่อว่าการออกกำลังกายน่าจะช่วยให้เรามีร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ และมีรูปร่างที่เฟิร์มขึ้นด้วย นิยามสุขภาพดีของเราคือ ต้องมีร่างกายแข็งแรง และจิตใจแจ่มใส ไม่เครียด”

    [English]
    Millennials Not Keen on Exercise
    Thai millennials spends only 1.1 hour per day on physical activities, the lowest compared to other generations. They are also the generation that spends the most on food at 77% of their expenses, because they’d rather eat out or buy ready-to-eat meals than cook. According to the WHO, 32.2% of Thailand’s population are obese, the second highest among ASEAN countries. The number of Thais who suffer from hypertension and diabetes, or are prone to develop diabetes is also very high. Even though 91% of the Thais see the benefit of regular physical exercise, only 48% can maintain a daily regimen. A healthy lifestyle has been a popular trend in recent years, but most people would rather spend time with electronic gadgets. It is never too late to start exercise to stay healthy.