Tuesday, May 23, 2023
More

    ผ่าท้องคลอด (ไม่)ปลอดภัยทุกคน

    แม้จะมีการยอมรับโดยทั่วไปว่าการผ่าตัดคลอดในปัจจุบันมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และได้รับความนิยมมากขึ้น ในประเทศไทยมีอัตราการผ่าท้องคลอดอยู่ที่ 30% ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุอัตราที่เหมาะสมคือ 10% แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ คนไข้ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เลือกผ่าคลอดตามฤกษ์ยาม ทั้งที่ยังไม่ถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม คิดเพียงว่า ‘แค่วันสองวันคงไม่เป็นไร’

    เลขนั้นสำคัญไฉน
    จากสถิติประเทศไทยมีการคลอดปีละประมาณ 700,000 ราย อัตราการผ่าท้องคลอดอยู่ที่ 30% หรือประมาณ 210,000 ราย ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 15-30% ขณะที่บางโรงพยาบาลในประเทศไทยมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูงถึง 60-70% ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้นและคนไข้มีโอกาสเลือกได้มากขึ้น ทำให้ความนิยมผ่าคลอดสูงขึ้นด้วย
    รองศาสตราจารย์นายแพทย์ นพดล สโรบล สูติ-นรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายถึงการผ่าคลอดให้เข้าใจง่ายว่า
    “ปกติคนจะท้องประมาณ 40 สัปดาห์ นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายไป 9 เดือนกับ 7 วัน สมมติประจำเดือนมาวันสุดท้าย 1 มกราคม เอา 9 เดือนบวกไปก็จะเป็น 1 ตุลาคม บวกอีก 7 วันก็จะเป็นวันที่ 8 ตุลาคม นี่คือช่วงที่เหมาะสมในการคลอด คือ 40 สัปดาห์”

    “ตัวอย่างที่ 2 สมมติกำหนดคลอดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ ถ้าคนไข้ประสงค์จะผ่าคลอด หมอจะแนะนำให้ผ่าหลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คืออย่างน้อยอายุครรภ์ต้องได้ 38 สัปดาห์ก่อน แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันคนไข้กำหนดวันผ่าตามฤกษ์หรือตามความสะดวก บางครั้งยังไม่ถึง 38 สัปดาห์ ก็มาขอให้ผ่าแล้ว ซึ่งหมอบางคนอาจจะยอมผ่าให้ เพราะคิดว่าไม่กี่วันเอง แต่ถ้ามาหาหมอนพดล จะไม่ผ่าเด็ดขาด!” สูติแพทย์มากฝีมืออันดับต้นของเมืองไทยยืนยัน

    ฤกษ์ผ่าคลอดหรือเลือกเชื่อหมอ
    ความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนและค่านิยมบางอย่าง ทำให้คนไทยบางกลุ่มนิยมผ่าคลอดมากขึ้น โดยเหตุผลที่นิยมมากที่สุดคือ คลอดลูกตามฤกษ์ หรือการกำหนดวันเกิดให้ลูกตามความเชื่อส่วนบุคคล


    “คนไข้ร้อยทั้งร้อยในโรงพยาบาลเอกชนที่ผ่าคลอดจะขอดูฤกษ์ก่อน ขนาดอยากจะคลอดเองแต่ลูกตัวใหญ่ไปหมอวินิจฉัยให้ผ่าคลอด คนไข้ยังขอดูฤกษ์ก่อนเลย ตรงนี้เราไม่ว่ากัน เป็นสิทธิของคนไข้ แต่ต้องดูให้เหมาะสม เราจะไม่ยอมเอาสุขภาพของแม่ละเด็กมาเสี่ยงเด็ดขาด” คุณหมอนพดล ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวชย้ำอีกครั้ง 

    “ความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดคือ เด็กไม่หายใจ ธรรมชาติสร้างให้ปอดเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกำหนดคลอดออกมา ปอดก็จะทำงานได้เลย แต่ถ้าเอาเขาออกมาก่อน อย่างกำหนดเอาออกที่ 37 สัปดาห์ เด็ก 8 ใน 10 คนอาจไม่เป็นอะไร แต่ 2 คนที่เหลือล่ะ หายใจไม่ได้ ก็ต้องใส่ท่อหายใจ ให้ยาราคาแพงเพื่อช่วยเขา แล้วบางคนถ้าโชคร้ายก็มีปัญหาตามมา เช่น ติดเชื้อ ความดันในปอดสูงผิดปกติ ทำให้ทุกอย่างเลวลงเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็อาจเสียชีวิตได้”

    “หมอไม่เข้าใจเรื่องที่คนไข้บางคนเอาธุรกิจไปผูกกับดวง บอกว่าต้องคลอดวันนี้ธุรกิจถึงจะดี มีบางเคสเลือกคลอดก่อนวันหรือสองวันเพื่อให้ตรงกับฤกษ์ เด็กที่จะเกิดมาต้องรับความเสี่ยง โดยที่เขาไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ เลย ใช่ ‘มันก็แค่วันสองวันเอง’ แต่แค่วันสองวันนี้แหละที่มีค่า”

    ยืนยันคลอดธรรมชาติดีที่สุด
    แม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะดีขึ้น แต่ทุกวันนี้ยังคงมีเด็กคลอดใหม่เสียชีวิตไม่น้อย

    องค์การอนามัยโลก (ฮู) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เสียชีวิตร้อยละ 50 เป็นผลจากการเสียชีวิตในระยะเดือนแรกของชีวิต โดยเป็นจากการคลอดก่อนกำหนดกว่าร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นจากการติดเชื้อรุนแรง การขาดออกซิเจนหลังเกิด และปัญหาหัวใจพิการแต่กำเนิด 

    “ถ้าถามหมอว่าคลอดแบบไหนดีกว่ากัน หมอก็จะเชียร์ให้คลอดเองดีกว่า แต่ถ้าคนไข้ขอผ่า หมอยิ้มเลย เพราะหมอไม่ต้องเฝ้าไข้ทั้งคืน อย่างไรก็ตาม หมอเคยคุยกับคุณแม่ที่เคยทั้งคลอดเองและผ่าคลอด 7 ใน 10 คนบอกคลอดเองดีกว่า”

    คุณหมอนพดลเล่าเพิ่มเติมว่า โดยปกติแล้วทางการแพทย์จะแนะนำให้คลอดเอง ที่โรงเรียนแพทย์ถ้ามีคนไข้มาขอให้ผ่าคลอด หมอจะไม่ผ่า ในโรงพยาบาลรัฐเช่นกัน คนไข้มาขอให้หมอผ่าตามใจชอบไม่ได้เพราะเป็นระเบียบ แต่โรงพยาบาลเอกชนคนไข้เลือกได้ อีกทั้งการผ่าคลอดยังปลอดภัย ถ้าผ่าคลอดอันตรายเหมือนผ่าตัดหัวใจ คงไม่มีใครกล้าเสี่ยง

    ความยากง่ายของการทำคลอด
    “หมอจะใช้เวลาในการผ่าคลอดประมาณ 30-45 นาที หมอสามารถผ่าคลอดได้ 5-6 คนต่อวันสบายๆ แต่ถ้าคลอดเอง หมอเหนื่อยมาก คนไข้เองก็เหนื่อย ต้องเฝ้าไข้ 8-10 ชั่วโมง”

    เมื่อถามถึงอันตรายของการคลอดธรรมชาติและผ่าท้องคลอด คุณหมอขอขยายความให้ฟังว่า
    “อันที่จริง ทั้งคลอดเองและผ่าคลอดก็มีปัญหาของมันเอง อย่างคลอดเอง อาจเจอเคสคลอดทุลักทุเล แม่ตกเลือด เลือดช้ำได้ มีแผลตรงช่องคลอด ส่วนผ่าคลอด บางทีก็ตกเลือดได้เหมือนกัน แต่โดยภาพรวมคลอดเองคือดีกว่า แต่ถ้าคลอดเองแล้วมีอุปสรรคเยอะ การผ่าคลอดจึงเป็นทางเลือกที่ดี”

    “ในเมืองไทย ถ้าคนเคยผ่าคลอดแล้ว ท้องต่อไปก็จะนิยมผ่าคลอดอีก เพราะกลัวมดลูกแตก เมื่อผ่ามดลูกแล้วจะมีแผลเป็น ซึ่งเป็นส่วนที่อ่อนแอ ถ้าเจ็บท้องในครั้งต่อไปมดลูกอาจแตกได้หากมีอาการบีบมดลูกเยอะๆ แต่ในต่างประเทศ ถ้าเคยผ่าคลอดแล้วกลับมาคลอดเองเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของหมอ เพราะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด”

    ท้องแรกของคุณแม่วัยใส
    อีกประเด็นที่ไม่เคยจางไปจากสังคม คือปัญหาท้องในวัยรุ่น จากรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับสถานการณ์การตั้งครรภ์ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ทั่วโลก ในปี 2556 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 74 คน ต่อ 1,000 คน

    อีกทั้งข้อมูลยังระบุว่า การมีลูกตอนวัยรุ่นหรือทารกคลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงนำสู่ภาระโรคเรื้อรัง เจ็บป่วยบ่อย รวมทั้งปัญหาตาบอดในเด็ก ทำให้เด็กเสี่ยงเสียชีวิตแรกเกิด

    แม้ตามทฤษฎีทางการแพทย์มีบทเรื่อง Teenage Pregnancy อธิบายว่า การคลอดเองของวัยรุ่นอาจยากกว่า เพราะกระดูกเชิงกรานยังไม่โตเต็มที่ แต่ในความเป็นจริงคุณหมอนพดลยืนยันว่าไม่มีผล คือถ้าคุณแม่วัยรุ่นอยากคลอดเองก็คลอดได้ และดีกว่าด้วย 

    “หมอบางคนตามใจคนไข้ ส่วนหมอบางคนเข้าใจจริงๆ ว่าผ่าก่อน 38 สัปดาห์ก็ยังโอเค ซึ่งไม่ใช่ อายุครรภ์ที่เหมาะในการผ่าคลอดคือ 38-40 สัปดาห์ ยิ่งนานยิ่งดี”

    “บางคนคิดว่าแค่วันสองวันไม่เป็นไร ไม่น่าเกิดปัญหา แต่ทำไมเราต้องเอาชีวิตเด็กคนหนึ่งไปเสี่ยงด้วย ในเมื่อเราสามารถเลือกได้” คุณหมอนพดล กล่าวทิ้งท้าย

    ทุกวันนี้มีการผ่าคลอดเกินความจำเป็นมากขึ้น ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งความสะดวกสบายของคนไข้และแพทย์ ส่วนรายได้ก็เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจของโรงพยาบาลเอกชนที่จะเสนอความสะดวกสบายให้คนไข้ แต่หากคลาดเคลื่อนเพียงวันหรือสองวัน ก็อาจส่งผลร้ายที่กลับไปแก้ไข้ไม่ได้

    คงจะดีกว่า ถ้าไม่ต้องเสี่ยงต่อความสูญเสียจากการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น


    รักษิตา วรเกียรติตระกูล อายุ 36 ปี คุณแม่ผ่าคลอด
    “เหตุผลที่เลือกผ่าคลอด เพราะเราตัวคนเดียว ให้รอคลอดธรรมชาติใครจะพาไปหาหมอ ถ้าอยู่ดีๆ ปวดทองขึ้นมาจะทำยังไง เกิดลูกคลอดกลางทางระหว่างไปโรงพยาบาลจะทำไง หลักๆ เลยคือห่วงลูก จึงเลือกผ่าคลอดเพราะเรากำหนดวันที่เราพร้อมได้”

    กมลพร อนันตภักดิ์ อายุ 48 คุณแม่คลอดธรรมชาติ
    “หมอแนะนำให้คลอดธรรมชาติ เพราะลูกแข็งแรงดี ตอนคลอดคนแรกไม่มีอาการเจ็บท้อง หลังจากหมอบล็อกหลังก็สลบไปเลย รู้สึกตัวอีกทีตอนอยู่ห้องพัก คลอดคนที่สองจะเจ็บท้องมากต้องคลอดก่อนกำหนด แต่คลอดธรรมชาติเหมือนเดิมนะ แผลหายเร็วด้วย”

    [English]
    Why C-section Is Scarier Than You Think
    Although it is accepted that the c-section method is quite safe and has become more popular in Thailand with it being performed for 30% of the Thai childbirths, the World Health Organization (WHO) suggests that the appropriate number should in fact be 10%.

    Generally speaking, most Thai pregnant women don’t need a c-section but choose to have one performed for auspicious reasons. Sometimes they even give birth when the time is not right for the baby, thinking ‘it’s just two days early.’ The most serious risk that could come out of this is the baby not being able to breathe by itself, as its lungs haven’t fully developed.

    Regarding this matter, Assoc. Prof. Dr. Nopadol Saropala comments that both vaginal birth and c-section come with their own complications but that it is best to go with vaginal birth first and have c-section be an option, should any problems occur.