Wednesday, May 24, 2023
More

    คนรุ่นใหม่เป็นเบาหวานสูงขึ้น

    ในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานกว่า 5 ล้านคน และอีกกว่า 415 ล้านคนต้องเผชิญกับโรคเบาหวานและเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ขณะที่ไทยมีผู้ป่วยเบาหวานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนคน เสียชีวิตปีละ 8,000 คน ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย

    สถิติโรคเบาหวาน 
    องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าในปี 2583 ยอดผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่า มีผู้ป่วยเบาหวาน 4.8 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ 3.3 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2 แสนคน โดยมียอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละกว่า 8,000 คน และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป


    ที่น่าเป็นห่วงคือมีคนไทยมากถึง 2 ล้านคนที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ทราบและยังไม่เข้าถึงการรักษา และยังมีอีก 7.7 ล้านคนที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยงของโรคเบาหวาน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิด คือ ความอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ที่คนไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด 

    ขณะที่ภาครัฐได้ดำเนินการเก็บภาษีน้ำหวานตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต 2560 ใหม่ ซึ่งจะเก็บตามปริมาณความหวานเพื่อไม่ให้ประชาชนบริโภคน้ำตาลมากจนเกิดปัญหาสุขภาพ มีผลบังคับใช้แล้ววันที่ 16 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา แต่ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 2 ปี และจะดำเนินการเก็บภาษีจริงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562

    หญิงไทยเป็นเบาหวานมากขึ้น
    ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกพบว่า ผู้หญิงมากกว่า 199 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคเบาหวาน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 313 ล้านคนในปี 2583 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก คิดเป็น 2.1 ล้านคนต่อปี โดยหญิงไทยมีภาวะอ้วนมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากมาเลเซีย

    ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากปัจจัยทางด้านสรีระร่างกายและพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือบางกรณีอาจจะเป็นต่อเนื่องหลังจากคลอด หรือในบางรายมีโอกาสกลับมาเป็นอีกใน 5-10 ปี  ซึ่งช่วง 24 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ นับเป็นระยะที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานสูง เพราะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาของรกเต็มที่ มีการผลิตฮอร์โมนสูง จึงอาจพบเป็นภาวะดื้ออินซูลินได้

    อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่เสี่ยงต่อเบาหวาน ได้แก่ กรรมพันธุ์ น้ำหนักเกิน หรือเคยมีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติ แท้งโดยหาสาเหตุไม่พบ จึงควรตรวจสอบความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

    โดยล่าสุด สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ร่วมมือกับ บริษัท เมอร์ค จำกัด จัดกิจกรรม “Healthy Women, Healthy Families, Healthy Economies” เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการดูแลสุขภาพและโภชนาการด้วยตนเอง รวมถึงคนใกล้ชิดและครอบครัวให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง

    ลดเบาหวาน ลดภาระสังคม
    จากข้อมูลของสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี 

    อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคแทรกซ้อน อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของคนไทย โดยโรคเบาหวานที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายทำลายเซลล์ของตัวเองที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลินโดยปฏิกิริยาอิมมูน มักพบในวัยเด็กหรือผู้ใหญ่วัยต้น การรักษาจึงต้องมีหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้แก่ การควบคุมอาหาร วางแผนเรื่องการออกกำลังกาย การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และการฉีดอินซูลินแบบหลายครั้งในหนึ่งวัน (MDI)

    ขณะที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 30 ปี และสัมพันธ์กับการมีน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการดื้ออินซูลิน การรักษาจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และอาจต้องรักษาด้วยยารับประทานและ/หรือฉีดอินซูลินร่วมด้วย  

    หากจำนวนผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียในการดูแลรักษาก็ย่อมเพิ่มขึ้น ทั้งเรื่องยา การวินิจฉัย ค่าเดินทาง ที่พัก ฯลฯ ซึ่งรัฐก็ต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือ และยังส่งผลถึงคุณภาพประชากรของประเทศ

    ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่สังคมเกินความจำเป็น เราควรที่จะหันมาดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่สมดุลพอเหมาะ และควบคุมน้ำหนักของตนเอง 


    ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
    “ผู้คนทั่วไปมีโอกาสเป็นเบาหวานแต่มักไม่รู้ตัวเนื่องจากระยะแรกนั้นอาจไม่พบอาการแสดงออกของโรค จนกว่าจะตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 200 มก./ดล. แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 125 มก./ดล. ถือว่าเป็นเบาหวานแล้ว ซึ่งถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเสี่ยง เพียงแค่การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและ  ออกกำลังกายก็สามารถช่วยได้ โดยไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา”