เหลือบไปเห็นข่าวที่มีผู้โพสต์ youtube “องค์กร UNESCO ประกาศยกย่องให้พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต หรือหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต พระเถรานุเถระสายวิปัสสนากรรมฐานที่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ความเคารพยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ประจำปี 2563-2564 แต่ผมยังหาต้นฉบับข่าวที่คอนเฟิร์มเรื่องดังกล่าวไม่พบ
เท่าที่ติดตามและตรวจสอบล่าสุดนั้น มีแต่ข่าวที่กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอชื่อของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกไปเมื่อต้นปี 2562 ในฐานะพระเถรานุเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน ผู้นำกองทัพธรรมที่มีส่วนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลกในช่วงกึ่งพุทธกาลที่ผ่านมา เพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 150 ปีชาติตระกาลของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโตในปี 2563 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ ตามกระบวนการพิจารณานั้นทางองค์การ ยูเนสโก น่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนศกนี้ หากองค์การยูเนสโกประกาศยกย่องหลวงปู่มั่น ให้เป็นบุุคคลสำคัญของโลกดังที่เป็นข่าวก็ถือเป็นข่าวดีของพุทธศาสนิกชน และประชาชนคนไทยอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ได้เคยประกาศยกย่องให้”ท่านพุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์ มาแล้ว
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต (ภูริทัตโต) นั้น ได้ชื่อว่าเป็น 1 ในพระเถรานุเถระในสายวิปัสสนากรรมฐานที่ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย เป็นพระสงฆ์ที่ผู้มีปฏิปทาสันโดษ มักน้อย แสวงหาความวิเวก และปรารภความเพียรตั้งแต่แรกบรรพชาจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
หลวงปู่มั่นนั้น มีไฝอยู่ตรงระหว่างคิ้ว ลักษณะคล้ายกับพระอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝเม็ดนี้เป็นจุดดำเล็ก ๆ มีขนสามเส้น ไม่ยาวมาก โค้งหักเป็นตัวอักษร ก. และเป็นเส้นละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น เวลาท่านปลงผมจะปลงขนที่ว่านี้ออกด้วย แต่ไม่นานก็งอกขึ้นใหม่ในลักษณะเดิมอีก หูของหลวงปู่มั่นมีลักษณะยาน จมูกโด่ง แววตาของท่านก็เหมือนแววตาของไก่ป่า (คือเป็นวงแหวนในตาดำ) ส่วนที่มือของท่านนั้น นิ้วชี้จะยาวกว่านิ้วอื่น แล้วไล่ลงมาจนถึงนิ้วก้อย นิ้วเท้าก็เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะพิเศษทางกายภาพของหลวงปู่มั่น
วัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดของหลวงปู่มั่น ก็คือ “บิณฑบาตเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร และใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร” หากผู้ใดต้องการถวายจีวร ผ้าสบง ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ใด ๆ ให้แก่ท่าน ก็เป็นอันรู้กันว่า จะต้องนำไปวางไว้ที่บันไดบ้าง วางไว้ใกล้ ๆ กุฏิของท่านบ้าง วางไว้ตรงทางเดินไปห้องน้ำบ้าง เมื่อท่านเห็นก็จะบังสุกุลเอา บางผืนท่านก็ใช้ บางผืนก็ไม่ได้ใช้ ใครไม่รู้อัธยาศัยแล้วนำไปถวายกับมือท่านจะไม่รับ
เกียรติคุณหลวงปู่มั่นที่ได้ชื่อว่าเป็นพระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากรรมฐานนั้น ด้วยเหตุที่ท่านได้จาริกและเดินธุดงค์เกือบตลอดชีวิต ข้ามภูเขาไปไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก จนเป็นที่ประจักษ์ มีผู้ปฏิบัติตามจำนวนมาก จนเกิดพระป่าสายธรรมยุตกระจายทั่วไปในภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ รวมทั้งในต่างประเทศในอีกหลายๆ ประเทศ เท่าที่มีการสืบค้นข้อมูลมาได้ หลวงปู่มั่นได้ธุดงค์ไปต่างประเทศถึง 180 แห่ง จึงเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดชื่อเสียงและความศรัทธาในตัวท่าน ที่แม้เมื่อท่านละสังขารไปแล้วก็ยังคงไม่มีเลือนหาย ตรงกันข้ามศรัทธานั้นกลับเจริญงอกงามขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ศิษย์ก้นกุฎิของหลวงปู่มั่น ที่ติดตามเป็น”อุปัฏฐา” กรับใช้อยู่ถึง 4 ปี หลังจากที่ฝากตัวเป็นศิษย์และติดตาม พระอาจารย์ “หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ” ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นอยู่ถึง 8 ปีก่อนจะขอให้อาจารย์พาเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นเพื่อขอศึกษพระธรรมวินัยจากท่านนั่นก็คือ “พระธรรมมงคลญาณ(พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ที่ล่าสุดเพิ่งได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น “พระพรหมมงคลญาณ วิ.”นั่นเอง นับเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นรูปที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นรูปแรกของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต
พระพรหมมงคลญาณ วิ.ได้บันทึกเรื่องราวเมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสเป็นอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์หลวงปู่มั่นอยู่ถึง 4 ปี และพระอาจารย์หลวงปู่วงมาอีก 8 ปี รวม 12 ปีนั้นว่าได้ใช้โอกาสที่ได้รับนี้ พยายามศึกษาพระธรรมวินัย ข้อวัตร และหลักการปฏิบัติสมาธิ ทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียด ตื้น ลึก หนา บาง จนเป็นที่แน่ใจแล้ว ในหลักการและแนวทางการปฏิบัติ จึงได้กราบลาพระอาจารย์แสวงหาความวิเวกส่วนตัว ตามแต่โอกาสจะอำนวย
ก่อนจะรวบรวมเขียนเป็นตำราสมาธิ “หลักสูตรครูสมาธิ” จำนวน 3 เล่ม โดยรวมหลักการปฏิบัติอันเป็นทฤษฎี นับตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง และขั้นสูง ตามลำดับเพื่อเผยแผ่วิชาสมาธินี้แก่ชาวโลก ด้วยเล็งเห็นว่า วิชาสมาธินี้ เป็นวิชาที่เลิศและประเสริฐโดยแท้ แต่หากจะรู้เพียงคนสองคน แม้เป็นสิ่งที่มีค่ามากเพียงใด ก็คงต้องหายไปจากโลกนี้ไปสักวัน เมื่อมานึกถึงสิ่งนี้หลวงพ่อวิริยังค์ ก็บังเกิดจิตเมตตาอยากที่จะเผยแผ่วิชาสมาธินี้ให้แก่ชาวโลก สมดังปณิธานที่มั่นคงตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร จึงได้ใช้วัดธรรมมงคล เป็นสถานที่เผยแผ่ศาสนาและวิชาสมาธิตามปณิธานที่ได้ตั้งไว้แต้งแต่เด็ก และได้จัดตั้ง “สถาบันจิตตานุภาพ” ขึ้นเมื่อปี 2540 เพื่อเผยแผ่วิชาสมาธิให้แพร่หลายไปทั่วประเทศไทย จนในเวลานี้มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งในและต่างประเทศรวมแล้วกว่า 267 สาขา ภายใต้นาม “สถาบันพลังจิตตานุภาพ” และ ขยายไปยังต่างประเทศถึง 10 สาขา ทั้งใน ประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา