Thursday, October 5, 2023
More

    ไขความกระจ่าง OFFICE SYNDROME กับ นพ.กิตติพงศ์ พงศ์แพทย์พิพัฒน์ แห่ง ADD LIFE

    ชวนคุยเจาะลึกถึงปัญหา Office Syndrome (ออฟฟิศ ซินโดรม) กลุ่มอาการที่มักเกิดขึ้นกับพนักงานออฟฟิศ กับนพ.กิตติพงศ์ พงศ์แพทย์พิพัฒน์ แพทย์ทางด้านการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด เวชศาสตร์ชะลอวัย ความงาม และเวชศาสตร์ป้องกัน แห่ง ADD LIFE ศูนย์บริการทางด้านความเสื่อมในร่างกาย ที่ตั้งอยู่ ณ Life Center ไลฟ์สไตล์มอลล์รูปแบบใหม่บนถนนสาทร ใจกลางกรุงเทพมหานคร

    อธิบายถึงภาวะออฟฟิศ ซินโดรม
    ออฟฟิศ ซินโดรม คือ อาการที่เกิดจากการทำงานออฟฟิศ เช่น นั่งพิมพ์คอมพ์ ทำงานเอกสาร นั่งประชุมนานๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนแทบจะทำงานออฟฟิศ รวมถึงครูที่มีโต๊ะทำงาน พนักงานเทรดหุ้น พนักงานโหลดกระเป๋า และแอร์-โฮสเตสที่ต้องยกของบนเครื่อง เป็นต้น นอกจากคำจำกัดความว่าต้องทำงานอยู่ในออฟฟิศแล้ว ยังรวมถึงงานที่ต้องยก หาม แบก ลาก จูงด้วย รวมไปถึงสภาวะจิตใจ ซึมเศร้า ก็เป็นภาวะออฟฟิศ ซินโดรมเช่นกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะเกิดกับกระดูกและข้อ และกล้ามเนื้อ เราจึงมุ่งประเด็นไปที่ กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อเป็นหลัก เมื่อเกิดอาการเมื่อยก็จะทำงานอย่างไม่มีความสุข


    เจาะลึกถึงอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ
    ปัจจุบันเราใช้โทร-ศัพท์มือถือแบบสมาร์ท-โฟน แท็บเล็ต ซึ่งก็จะมีท่าแปลกๆ เกิดขึ้น เช่น ก้มคอนานๆ เพื่อดูหน้าจอ หรือท่านั่ง คือคนมักจะนั่งปริ่มเก้าอี้เพื่อบุคลิกภาพสวยงาม หรือนั่งทำงานที่โต๊ะคอมพ์ก็มักจะยื่นหน้ามาข้างหน้าเพื่อมองหน้าจอ ทำให้ร่างกายนั่งผิดท่า ซึ่งเหล่านี้จะมีหลักในการนั่งอย่างถูกต้องอยู่ เช่น นั่งตัวตรง, แบ่งจอคอมพ์เป็น 3 ส่วน ระดับสายตา 1 ใน 3, ที่นั่งควรมีล้อ มีพนักพิงถึงต้นคอ ล็อกเก้าอี้, ฝ่าเท้าวางระนาบ เข่างอ 90 องศา ระดับก้นสูงกว่าเข่า, มีที่เท้าแขน แขนวางนาบ, โต๊ะห่างตัว 1 ฝ่ามือ, ระหว่างคีย์บอร์ดต้องมีที่วางมือ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันโต๊ะทำงานหลายบริษัทไม่เหมาะสำหรับนั่งพิมพ์คอมพ์ จึงเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดออฟฟิศ ซินโดรม

    ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการ
    ออฟฟิศ ซินโดรมเกิดจากปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายใน เช่น มีปัญหากระดูกและข้อเป็นทุนเดิมหรือไม่ กล้ามเนื้อแข็งแรงแค่ไหน เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีปัญหาแล้วไปนั่งทำงานในท่าไม่ถูกต้องอีก ก็จะเกิดอาการปวด เมื่อย เกร็ง ดังนั้นต้องเปลี่ยนอิริยาบทการนั่งบ่อยๆ เช่น ลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำบ้าง ส่วนปัจจัยภายนอกคือ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน เช่น โต๊ะที่นั่ง อุณหภูมิ แสงแดด นั่งใกล้เครื่องถ่ายเอกสารหรือไม่ เพราะความร้อนของการแผ่รังสีก็มีส่วนทำลายสุขภาพด้วยเช่นกัน

    มิวิธีป้องกันอย่างไร
    ถ้ามีปัญหากระดูกและข้ออยู่แล้ว ผ่านการผ่าตัดมา เหล่านี้คือปัจจัยภายในที่แก้ไม่ได้ แต่เราสามารถนั่งท่าที่ถูกต้องได้ เคลื่อนไหวบ่อยๆ ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ แต่ถ้าใครไม่เคยมีปัญหาเหล่านี้ ก็มาทำกล้ามเนื้อตัวเองให้แข็งแรง ลดน้ำหนักให้เหมาะสม สร้างกล้ามเนื้อสม่ำเสมอ และปรับท่าทางในการทำงานด้วย

    นานแค่ไหนถึงจะกลับมาเป็นปกติ
    ขึ้นอยู่กับว่าอะไรคือปัญหา ต้องหาว่าปัญหาหลักที่ทำให้เกิดออฟฟิศ ซินโดรมคืออะไร ถ้าเกิดจากนั่งทำงานในท่าที่ไม่ถูกต้อง ก็แค่ปรับ จะเห็นผลในวันนั้นเลย แต่ถ้าปรับแล้วยังปวดก็ต้องรักษา มีตั้งแต่รักษาแบบเหยียดเกร็งกล้ามเนื้อ ออกกำลังกาย คือดูแลเบื้องต้น ไม่ใช้ยา ไม่ผ่าตัด เรียกว่ากายภาพบำบัด หรือมากกว่านั้น คือรักษาด้วยยา ส่วนการผ่าตัดนั้น ต้องเป็นเคสที่หนักมาก ซึ่งมักเกิดจากเหตุผลอื่นๆ ร่วม เช่น เป็นนิ่ว หรือปัญหาสายตา โดยแต่ละคนมีความทนทานไม่เท่ากัน บางคนทนได้โดยไม่ต้องใช้ยา บางคนทนไม่ได้ก็ต้องใช้ยา ฉะนั้นต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้เจอ เพื่อรักษาให้ถูกต้อง

    ตัวอย่างโรคที่เกิดจากอาการออฟฟิศ ซินโดรม
    Myofascial Pain Syndrome คือโรคที่กดไปจุดไหนก็เจ็บ ซึ่งเกิดได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย ขึ้นอยู่กับการใช้งาน หรือหากมีการตึงของกล้ามเนื้อมากๆ ก็จะเกิดอาการ Upper Crosses Syndrome คือกล้ามเนื้อทำงานไม่บาลานซ์กัน อาจเพราะกล้ามเนื้อต้นคอใช้งานหนัก ก้มมากเกินไป ก็จะทำให้ Posture เปลี่ยนแปลงไป บางคนคอยื่นไปข้างหน้า ยืนหลังค่อม พุงแอ่น งอเข่า ก้นกระดก ซึ่งเมื่อทำซ้ำๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อร่างกายเปลี่ยนไป

    การตรวจรักษาสำคัญอย่างไร
    เมื่อคนไข้มีอาการมาตรวจก็จะรู้ว่า Posture ของเราเป็นอย่างไร จะมีเครื่อง-มือในการวัดว่า ถ้าคอล้ำหน้ามากเกินไป หลังแอ่น พุงแอ่น ก็จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย หรือบางคนความยาวขาไม่เท่ากัน ทำให้ต้องยักสะโพกไปอีกด้านมากเกินไป ดังนั้นการดู Posture ในทางสถิติทำให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างเบื้องต้นในการทรงท่า การตรวจจะมี 2 และ 3 มิติ สำหรับ 2 มิติคือถ่ายภาพ เพื่อให้เห็นการทรงตัว ส่วน 3 มิติใช้วัดการเคลื่อนไหว มักใช้ในนักกีฬา เมื่อมาพบแพทย์ก็จะประเมินโครงสร้าง ซักประวัติ พฤติกรรม การใช้งานกล้ามเนื้อ เป็นการหาปัญหาว่าเกิดจากอะไร ซึ่งอาจเกิดจากการทำงาน การใช้กล้ามเนื้อ หรือโครงสร้างของร่างกายผิดปกติ

    รักษาอย่างไรให้หายขาดจากออฟฟิศ ซินโดรม
    การรักษาออฟฟิศ ซินโดรมแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ รักษาคน และรักษาโรค เพราะสิ่งแวดล้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน รวมถึงปัจจัยภายในของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จึงต้องมาพบแพทย์เพื่อหาปัญหา สิ่งสำคัญของการรักษาออฟฟิศ ซินโดรมคือ ไม่ใช่ว่าจะรักษาอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าหาปัญหาได้หรือไม่ ต้องหาเข็มทิศให้ถูก ถ้าถูกทางแก้ได้อยู่แล้ว ทุกวันนี้รักษาออฟฟิศ ซินโดรมไม่หาย เพราะรักษาตามอาการ ไม่ได้มองภาพใหญ่ว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน เพราะปัญหาแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกคนกินยาแล้วหาย แต่อีกคนกินยาแล้วไม่หายก็มี