สำรวจบทบาทของ “กัญชา” ในสังคมไทย ทั้งด้านกฏหมาย การแพทย์ อาหารการกิน และดนตรี รับวันกัญชาโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 20 เมษายน ของทุกปี
กัญชาถูกกฏหมายในไทยแล้ว (แต่ไม่ 100%)
ได้รับการปลดล็อกในบ้านเราเรียบร้อย สำหรับการนำ “กัญชา” มาประกอบอาหารได้ โดยต้องมีการนำเข้ามาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตปลูก อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากรายงานการยืนยันของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
และอนุญาตให้ใช้เฉพาะ เปลือก ลำต้น กิ่ง ก้าน เส้น ราก และใบ โดยต้องห้ามมียอด หรือช่อดอกติดมาด้วย เพราะส่วนช่อดอก ใบรองดอก และเมล็ด ของกัญชา ยังถือว่าเป็นสารเสพติด แถมการนำกัญชามาใช้เสพเป็นสารเสพติด ยังถือว่าเป็นเรื่องผิดกฏหมายอยู่ด้วยนะ
ส่วนของการปลูกต้นกัญชา ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการอนุญาตให้ปลูกได้ แต่มีข้อกำหนดว่า “คนทั่วไปที่ไม่ได้ประกอบอาชีพด้านการแพทย์” ปลูกได้บ้านละ 6 ต้น แต่ต้องรวมตัวกันให้ได้ 7 คน เป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน
และต้องทำสัญญากับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน หรือหน่วยงานรัฐก่อน ซึ่งจะมีการพิจารณาดู ตามความเหมาะสมของสถานที่ ต้องมีเลขที่ชัดเจน มีกล้องวงจรปิด และมีการป้องกันพื้นที่เพาะปลูกอย่างปลอดภัย ทั้งต้องยื่นแผนการปลูก และแผนที่สถานที่ปลูกเพื่อประกอบการพิจารณา
กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ ?
ข้อมูลการศึกษาวิจัยระบุว่าสารประกอบ Canabinoids ที่อยู่ในกัญชาสามารถใช้ในการรักษาโรคได้ และมีการนำมาใช้ทางการแพทย์ในไทยมาได้สักระยะแล้วโดย 2 สารออกฤทธิ์หลักที่นำมาใช้ทางการแพทย์ โดยไม่มีฤทธิ์เสพติด คือ
– delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC)
– cannabidiol (CBD)
อย่างไรก็ตาม การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้น กรมการแพทย์ได้ให้ความหมายว่า สิ่งที่ได้จากการสกัดพืชกัญชา เพื่อนำสารสกัดที่ได้มาใช้ทางการแพทย์ และการวิจัยนั้น ไม่ได้หมายรวมถึงกัญชาที่ยังคงสภาพเป็นพืช หรือส่วนประกอบใด ๆ ของพืชกัญชา อาทิ ราก ลำต้น ใบ ดอก ยอด เป็นต้น
ทั้งยังมีการแบ่งโรค และภาวะที่ได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ และโรคที่อาจจะได้ประโยชน์ (ในการควบคุมอาการ) ดังนี้
โรคและภาวะที่ได้ประโยชน์จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์
– อ้างอิงจากหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพ และได้รับการสนับสนุนชัดเจน
1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด
2. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
4. ภาวะปวดประสาท
โรคและภาวะที่อาจจะได้ประโยชน์ (ในการควบคุมอาการ) จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์
– ต้องการข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยต่อไป
1. ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง
2. ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
3. โรคพาร์กินสัน
4. โรคอัลไซเมอร์
5. โรควิตกกังวลทั่วไป
6. โรคปลอกประสาทอักเสบ
กระแสกัญชาในโลกออนไลน์
จากการสำรวจที่มีการพูดถึงกัญชาโดย Wisesighe ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่ามีการพูดเรื่องกัญชามากถึง 378,400 ข้อความ จากการเก็บข้อมูลในช่วง (ก.ค. 61 – มิ.ย. 62) ซึ่งมีข้อความที่พูดถึงประโยชน์ด้านสุขภาพ 44,574 ข้อความ หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนข้อความทั้งหมด โดยพบว่าโรคที่ได้รับการกล่าวถึงเมื่อมีการเอ่ยคำว่า “กัญชา” แบ่งได้ดังนี้
1. โรคมะเร็ง 77%
2. โรคซึมเศร้า 7%
3. โรคเบาหวาน 7%
4. โรคพาร์กินสัน 4%
5. โรคไมเกรน 3%
6. โรคสะเก็ดเงิน 1%
7. โรคไต 1%
ทั้งยังมีการพบว่า กลุ่มคนที่แชร์ประสบการณ์การใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคในด้านบวก มักอ้างว่าใช้กับตัวเองแล้วได้ผลจริง หรือคนในครอบครัวใช้แล้วได้ผล ในขณะเดียวกันก็พบว่า มีข่าวกลุ่มผู้ใช้เกินขนาดแล้วเกิดอาการรุนแรงจนต้องพบแพทย์ หรือกลุ่มที่ใช้ในขนาดที่แนะนำ แล้วเกิดอาการข้างเคียงเช่นกัน
ลิ้มรส ใบกัญชา จาก 12 เมนูของร้าน CoCo Chaophraya
ล่าสุดทาง CoCo Chaophraya ร้านอาหารทัศนียภาพสวย อาหารเด็ดดวง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้ออก 12 เมนูอาหาร โดยมีซิกเนเจอร์สำคัญ อย่างการนำ “ใบกัญชา” มาเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งทุกเมนู จะเท่ากับการทานใบกัญชาปริมาณ 1 มือคน และ BLT ก็แอบไปชิมด่วนจี๋ แล้วรีบเอามาแชร์ให้ทุกคนเตรียมเก็บไว้ ไปตามรอยทานกันเรียบร้อย ตามลิงค์ด้านล่างเลย
CoCo Chaophraya ออก 12 เมนูให้เราสัมผัสรสชาติใบกัญชาแบบจัดเต็ม
มุมมองต่อกัญชาของวงดนตรีเพื่อการเปลี่ยนแปลง Srirajah Rockers
วิน ชูจิตารมย์ นักร้องนำและสมาชิกหนึ่งเดียวที่อยู่กับวง Srirajah Rockers มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น จนเข้าสู่ยุคเจเนอเรชันที่ 3 ของวง ได้บอกเล่าถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวกับกัญชาและเพลงเรกเก้ไว้ว่า
“กัญชาเกิดมานานมาก และอยู่ในทุก ๆ อารยธรรมของโลก ไม่ได้เกิดมาจากเรกเก้หรือจาไมกา กัญชาเป็นเหมือนกับพืชที่ให้ปัญญา ทำให้ศีลกลับมา เลยไปผูกกับดนตรี ความคิด การเข้าถึงพระเจ้า และเชื่อมโยงกับเรกเก้ ซึ่งจริง ๆ แล้วกัญชาคือสัญลักษณ์ของมนุษยชาติทุกคน”
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองของวง Srirajah Rockers ที่มีต่อกัญชา และเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ ของวงนี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่