Wednesday, May 24, 2023
More

    ท่องเที่ยวไทยบูม รับนทท. 38 ล้านคน กวาดรายได้เป็นอันดับ 4 ของโลก

    ภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปี 2561 สามารถเติบโตตามเป้าหมาย ด้วยยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลทะลุ 38 ล้านคน กวาดรายได้ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่เมืองท่องเที่ยวรองได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม คาดการณ์ปี 2562 จะขยายตัวต่อเนื่อง

    ปี 61 ต่างชาติเที่ยวไทยทำรายได้ตามเป้า ดันรั้งอันดับ 4 ของโลก 
    นับว่าประเทศไทยถือเป็นแบรนด์ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากการเผยถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวปี 2561 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าไทยมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จำนวน 38,277,300 คน ขยายตัว 7.54% เมื่อเทียบกับปี 2560 ก่อให้เกิดรายได้ 2,007,503 ล้านบาท เติบโตขึ้น 9.63% ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทยมีจำนวน 226.08 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1,068,180 ล้านบาท รวมรายได้จากการท่องเที่ยวมีมูลค่ากว่า 3,075,683 ล้านบาท


    โดย นักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 10.53 ล้านคน ขยายตัว 7.44% มีการใช้จ่าย 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.52% ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด รองลงมา อันดับ 2 มาเลเซีย 4.09 ล้านคน ขยายตัว 17.26% ใช้จ่าย 1.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น ถึง 20.42% (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)ทั้งนี้ แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวมจะหลุดจากเป้าที่วางเอาไว้ 39 ล้านคน แต่ยังถือว่ามีการขยายตัวในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นตะวันออกกลางที่มีปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งในภูมิภาค และโอเชียเนียจากปัญหาเศรษฐกิจและการแข่นขันจากญี่ปุ่น ขณะที่ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว คือ นักท่องเที่ยวจีนจากกรณีอุบัติเหตุเรือล่มที่ จ.ภูเก็ต และกลุ่มยุโรปจากการฟื้นตัวของตุรกี แต่ก็มีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน จากมาตรการฟรีค่าธรรมเนียม VOA (Visa On Arrival) ทั้งยังเกิดอานิสงส์ต่อการกระตุ้นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ ประกอบกับความเชื่อมั่นในรัฐบาลใหม่ของมาเลเซีย รวมทั้งการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวยุโรปในช่วงปลายปี ทำให้รายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ 2 ล้านล้านบาท โดยอัตราการขยายตัวของรายได้ที่สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตในเชิงคุณภาพ

    นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ระบุว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ จากนโยบายสำคัญ คือ 1. ให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ 2. การท่องเที่ยวต้อง “สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และยั่งยืน” 3. การจัดตั้งคลินิกด้านการท่องเที่ยว และ 4. การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ในขณะที่การตลาดเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง

    โดย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ใช้การท่องเที่ยวแบบวิถีไทย เป็นตัวขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้สู่ชุมชนให้ทั่วถึง อีกทั้งยังเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย อำนวยความสะดวกให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยว และอบรมอาสาสมัครเพื่อการท่องเที่ยว หรือเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จนปัจจุบันไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 ของโลก

    นักท่องเที่ยวกระจายสู่เมืองรองเพิ่มขึ้น
    นอกจากการเติบโตของการท่องเที่ยวในเมืองหลัก ที่ปี 2561 มียอดนักท่องเที่ยวรวม 212 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70.24% ของทั้งประเทศ ยังมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรองถึง 90 ล้านคน คิดเป็น 29.76% สร้างรายได้ 2.66 แสนล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในทุกจังหวัด ทุกภูมิภาค จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ประกอบกับมาตรการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีแก่นักท่องเที่ยว การยกเว้นภาษีกรณีจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดเมืองรอง รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองรองต่างๆ รวมทั้งยังมีปรากฏการณ์สนับสนุนจากกระแสละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส, นาคี และ งานอุ่นไอรัก…คลายความหนาว ทำให้เกิดการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

    โดยเมืองรองที่มีผู้เยี่ยมเยือนมากสุด อันดับ 1 คือ จ. นครศรีธรรมราช ด้วยจำนวน 3.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.23% รองลงมา อันดับ 2 จ.อุดรธานี 3.72 ล้านคน เติบโต 4.05% และอันดับ 3 จ.เชียงราย 3.63 ล้านคน เพิ่มมา 5.52%  (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)ส่วนเมืองรองที่มีรายได้สูงสุด อันดับ 1 จ.เชียงราย 28,548 ล้านบาท เติบโต 9.57% รองลงมาอันดับ 2 จ.ตราด 19,126 ล้านบาท โตขึ้น 9.30% และอันดับ 3 จ.นครศรีธรรมราช 17,136 ล้านบาท ขยายตัว 9.79% (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3) ขณะเดียวกันยังพบว่า มี 18 เมืองรอง ที่รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวสูงกว่าภาพรวมของเมืองรองทั้งหมด

    ที่น่าจับตามองที่สุด คือ จ.บุรีรัมย์ โดยเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตในด้านจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนสูงสุดของประเทศ ที่ 21.02% ด้วยจำนวน 2.01 ล้านคน อีกทั้งยังขยายตัวด้านรายได้สูงสุด ที่ 55.04% โดยมีรายได้ 4,247 ล้านบาท จากการชูเรื่องเมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยมีการจัดแข่งขันจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก (MotoGP) รายการพีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2018 สนามที่ 15 ซึ่งนับเป็นกิจกรรม Sports Tourism ที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมการแข่งขันมากกว่า 205,000 คน ก่อให้เกิดรายได้แก่ จ.บุรีรัมย์ และจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 3,100 ล้านบาท

    ปี 62 วางเป้านทท.ต่างชาติ 41 ล้านคน
    สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวปี 2562 คาดว่าจะมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวน 41.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.5% ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้กว่า 2.21 ล้านล้านบาท เติบโตถึง 10% โดยประเมินว่า นักท่องเที่ยวจีน จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยกว่า 11.69 ล้านคน มากขึ้น 11% ส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศในอาเซียน 11.31 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% และจากยุโรป จำนวน 6.90 ล้านคน เติบโตประมาณ​ 2% ส่วนนักท่องเที่ยวไทย จำนวน 166 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 1.12 ล้านล้านบาท

    โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีนโยบายที่สำคัญคือ 1. ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย ให้คุณค่ากับสิ่งแวดล้อม และการยกระดับการพัฒนาสังคม 2. การพัฒนาระบบนิเวศ ความสะอาด ความสะดวก เอกลักษณ์ความเป็นไทย สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน การทำงานร่วมทุกภาคส่วน 3. การพัฒนาเชิงพื้นที่ ท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเมืองรอง ท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง และพื้นที่ศักยภาพ Thailand Riviera และ 4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง เน้นการตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง จับตาทิศทางนักท่องเที่ยวต่างชาติ
    แนวโน้มที่ต้องจับตาสำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สำคัญในปีนี้ โดยที่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบอิสระ (FIT – Foreign Individual Tourism) จะมีความสำคัญ มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีจำนวนมากถึง 11.6 – 12 ล้านคน ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียนทั้งหมด ฉะนั้นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวก การสื่อสารไร้สาย และความปลอดภัย เพราะจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว FIT ได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง เช่น กลุ่มวัยรุ่น ผู้สูงอายุ เป็นต้น

    ในส่วนของนักท่องเที่ยวอินเดีย ต้องจับตากลุ่มนักท่องเที่ยวจากเมืองรองของอินเดียที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และจำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นอีก 7 เมือง โดยคาดว่าจะมีจำนวน 1.96 – 2.01 ล้านคน ซึ่งมากกว่ายอดนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่เข้ามามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในปีที่ผ่านมา สำหรับกลุ่มอาเซียน การเติบโตด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชายแดน จะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ซึ่งจะส่งเสริิมให้นักท่องเที่ยวจากประเทศในอาเซียนเติบโต และกลุ่มยุโรป ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการทำตลาดเข้มข้นจากตุรกี ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยวจากประเทศในยุโรป เป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญ

    ด้าน คุณวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า สมาคมฯ​ ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งปี 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเอาไว้ที่ 41 ล้านคน รายได้ 2.2 ล้านล้านบาท มองว่าเป็นเป้าหมายที่ไม่ง่าย เพราะมีปัจจัยลบหลายประการ ทั้งสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รวมถึง Brexis เป็นต้น แต่คิดว่าสามารถทำตามเป้าที่วางไว้ได้

    โดยนักท่องเที่ยว 4 กลุ่มที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. เอเชียตะวันออก ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง โดยเฉพาะไต้หวัน ที่ถือว่า  ได้รับความสนใจมากขึ้น จากอานิสงส์มาตรการ VOA 2. อาเซียน ที่ยังคงมีความมั่นใจและอัตราการเติบโตในระดับที่ดี โดยเฉพาะมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ ลาว และฟิลิปปินส์ 3. เอเชียใต้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มดาวรุ่ง ที่มีอินเดียเป็นตลาดใหญ่ คาดว่าปีนี้จะมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และอีก 5 ปีข้างหน้ายอดนักท่องเที่ยวอาจสูงถึง 5 ล้านคน รวมทั้งยังมีปากีสถาน และบังคลาเทศ อีกด้วย 4. ยุโรป ยังคงเป็นตลาดสำคัญ โดยนิยมมาพักระยะยาว เฉลี่ยอยู่ที่ 15 วัน แต่ต้องจับตาด้านเศรษฐกิจที่มีการเติบโตไม่สูงนัก อีกทั้งจำนวนประชากรก็ลดลง และเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย สำหรับกลุ่มที่มีโอกาสสดใสคือยุโรปกลาง โปแลนด์ เช็ก ฮังการี รวมถึงรัสเซีย และ 5. สหรัฐอเมริกา ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจที่เติบโต ค่าเงินยูเอสดอลลาร์ที่แข็ง จึงทำให้มีโอกาสที่นักท่องเที่ยวเข้ามา 2 ล้านคน

    ทั้งหมดคือสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ หากแต่ยังคงต้องติดตามต่อในปี 2562 ที่นับว่ามีความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยอดนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับภาคการท่องเที่ยวการนำบทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ ในปีที่ผ่านมาเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ซึ่งจะช่วยให้การท่องเที่ยวไทยมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง
    __________
    คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว  และกีฬา
    “ถึงแม้จะมีปัจจัยท้าทายทั้งในและต่างประเทศก็ตาม ในภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายและเป็นการเติบโตในเชิงคุณภาพ โดยดูได้จากอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ สูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง”[English]
    Thailand’s Booming Tourism with World’s Fourth Largest Tourism Income
    Thailand continues to be a leading brand for global tourism as this industry remains a strong economic engine for the country’s growth, proven by data from the Ministry of Tourism and sports, which showed the country welcomed 38,277,300 visitors in 2018 – a 7.54% year-over-year growth.  In terms of revenue, Thailand, last year, earned over two trillion baht, a 9.63% on-year increase.

    In 2018, Chinese travelers were still the biggest visitors to Thailand, with a total of 10.53 million – a 7.44% increase from 2017.  They spent around 580 billion baht in Thailand, an 11.52% on-year rise and a quarter of the country’s total tourism income from overseas travelers.

    Despite regional economic problems, rising competition in the region and repercussion from the fatal boat accident that killed several Chinese tourists in Phuket, Thailand’s tourism has survived, due to such positive factors as the Visa On Arrival (VOA) program.

    The Tourism Ministry also attributed the continued growth of the tourism industry to the government policies to use tourism as a tool to tackle income gap in Thailand, to promote convenient, clean, safe and unique tourism, to set up “tourism clinics” and to boost efficiency in the industry.

    In 2018, as many as 212 million people visited major destinations and this represented 70.24% of the total number of tourists seen across the country, while 90 million or 29.76% visited secondary cities.

    For 2019, Thailand is hoping to welcome 41.1 million overseas visitors, a 7.5% increase from the previous year, and to earn 2.21 trillion baht in revenue – a 10.0% on-year growth.