Thursday, December 8, 2022
More

    ดวงใจ นันทวงศ์ นักบูรณะอาคารเก่าแห่งเมืองสงขลา

    ในเขตเมืองเก่าสงขลามีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ทรงคุณค่าอยู่เป็นหลายหลัง หากแต่ด้วยกาลเวลาและการพัฒนาต่างก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มรดกทางสถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงไป แต่ ณ เวลานี้ได้มีสถาปนิกที่ได้ริเริ่มสร้างบริษัทรับซ่อมแซมอาคารเก่าโดยเฉพาะขึ้น ซึ่งมาจากงานวิทยานิพนธ์ และงานวิจัยด้านการประกอบการสังคม สถาปัตยกรรมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องการเสริมสร้างพลังท้องถิ่น ด้านคุณค่า มูลค่า และการสืบสานมรดกวัฒนธรรม “เมืองเก่าสงขลา” ให้เข้มแข็งสู่การเป็นมรดกเราและมรดกโลก ซึ่งสนับสนุนโดย สกสว.

    BLT มีโอกาสล่องใต้ไปสัมภาษณ์พิเศษ คุณดวงใจ นันทวงศ์ แห่งบริษัท สงขลา เฮอริเทจ ธุรกิจเพื่อสังคมด้านการพัฒนาเมือง ออกแบบปรับปรุง ฟื้นฟู อาคารทรงคุณค่า และการจัดการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้วัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์เมือง ร่วมกับชุมชนในสงขลา


    อะไรที่ทำให้คุณมีความสนใจในการซ่อมแซมอาคารเก่า
    “เพราะเห็นคุณค่าและตัวตึกบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์แต่ละยุค ยุคแรกของการตั้งเมืองสงขลา เป็นการก็อปปี้บ้านมาจากเมืองจีน พอมาอีกยุคก็จะเห็นการคลี่คลายของอาคาร เพราะสภาพแวดล้อมที่นี่ไม่เหมาะ ตัวอาคารเริ่มเปลี่ยนรูปทรง ชายคาเริ่มยาวขึ้นเพราะฝนตกเยอะ บานหน้าต่างที่แคบๆ ก็กว้างขึ้น เพราะที่นี่ไม่ได้หนาว”

    “หลังประกาศขอบเขตเมืองเก่าสงขลาเสร็จ อ.จเร สุวรรณชาต ชวนมาทำวิจัยเรื่องเมืองเก่า ซึ่งต้องทำแผนเพื่อดูแลรักษาพื้นที่เมือง บริหารจัดการดูแลต้นทุนทางวัฒนธรรม ต้องหาวิธีการปกป้องสถาปัตยกรรมแต่ละรูปแบบ อีกทั้งยังโดดเด่นเรื่องพหุวัฒนธรรม ก็ทำแผนสร้างกิจกรรมส่งเสริมและดูแลรักษา แล้วตัวเราก็ผูกพันกับเมืองมานาน พอมาทำงานวิจัยก็ต้องบันทึกว่าทั้งหมดมีกี่หลัง ตอนนั้นพบอาคารทรงคุณค่ามีประมาณ 250 กว่าหลัง แต่ปัจจุบันเหลือแค่หลักสิบ”

    ทำไมถึงหายไปเยอะ
    “อาคารเก่าไปตามอายุ แล้ว กระบวนการซ่อมแซมตึกเก่าต้องใช้ความรู้ ใช้เงิน การที่ทำลายแล้วสร้างใหม่จะง่ายกว่า มันก็หายไปเรื่อยๆ พอถึงหลักสิบเราก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องรีบรักษาไว้”

    ไปๆ มาๆ เป็นบริษัทได้อย่างไร
    “หลังจากศึกษาบริบทเมืองแล้ว ก็ศึกษาเรื่องธุรกิจว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร ธุรกิจเพื่อสังคมมีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นอย่างไร ก็ดูตัวอย่างทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างในอังกฤษมีองค์กรชื่อว่า Coin Street ที่เช่าตึกร้างแล้วหาดีไซเนอร์มาออกแบบพื้นที่เพื่อให้คนเช่าต่อ ผลกำไรก็นำมาจ้างงานหรือตอบแทนคนในพื้นที่ เช่นศูนย์รับเลี้ยงเด็ก”

    “แล้วจากปัญหาขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่เมืองสงขลา ที่ทำงานอนุรักษ์แต่ไม่มีรายได้ เลยคิดว่าเราจะคลี่คลายปัญหานี้อย่างไร จึงทำโปรเจ็กต์ทดลองเส้นทางศึกษาสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม พบว่าคนในพื้นที่หนองจิกมีความสนใจจะร่วม ก็ทดลองด้วยการขายทัวร์โรงสีแดง ถนนหนองจิก และศาลเจ้า ซึ่งครั้งแรกได้กำไรเป็น 0 แต่เราก็เอาปัญหามาปรับแก้ พอครั้งที่ 2 กำไรก็เพิ่มขึ้นเป็น 30% เลยเห็นว่ามีความเป็นไปได้”

    สงขลาเฮอริเทจแตกต่างกับบริษัทสถาปนิกอื่นอย่างไร
    “ข้อแตกต่างจะเป็นกระบวนการฟื้นฟู เราไม่ได้ทำกันภายในบริษัทเพียงอย่างเดียว มีเครือข่ายจากนักวิชา-การหลายๆ ด้าน ชาวบ้านในพื้นที่ก็มีส่วนร่วมด้วย เพราะถ้าเขามีส่วนร่วมก็จะเห็นคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจ มีกำลังใจที่จะดูแลตึกต่อไป”

    “แล้วเรื่องผลกำไร เราจะปันส่วนส่วนหนึ่งคืนสู่ชุมชนในหลายรูปแบบ อาจจะไม่ได้ตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่เป็นการฟื้นฟูอาคารเก่า สำหรับคนที่ไม่มีความสามารถในการดูแลอาคารเก่าทรงคุณค่าได้ หรือสร้างกิจกรรมเสริมสร้างภูมิปัญญาในท้องถิ่น”

    การซ่อมแซมบ้านเก่าแตกต่างอย่างไรกับบ้านใหม่ๆ
    “คอนเซ็ปต์หลักคือการรักษาความแท้ของอาคาร เรามีกระบวนการศึกษารูปแบบของอาคารว่าเมื่อก่อนมีความเป็นมาอย่างไร ใช้วัสดุอะไร แล้วก็มาปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมและเห็นความแตกต่างว่าเป็นของเก่าหรือของใหม่ เวลาซ่อมก็จะมีเกณฑ์ว่าต้องทำให้เห็นว่าวัสดุที่ไปทดแทนเป็นของยุคนี้ ไม่ใช่ทำเลียนแบบจนแยกไม่ออกว่าเป็นของเก่าหรือใหม่ ซึ่งจะเป็นหลักฐานในยุคต่อไป”

    ถ้าอยากจะซ่อมต้องใช้เงินเยอะไหม
    “ขึ้นอยู่กับว่าตัวอาคารชำรุดไปเยอะแค่ไหน บางหลังถ้าชำรุดแค่ผิวเปลือกนอก การซ่อมแซมก็ใช้งบไม่เยอะ แต่ถ้าชำรุดไปถึงเรื่องโครงสร้างตัวอาคารจะต้องใช้งบและกระบวนการเยอะกว่า เบื้องต้นถ้าไม่พูดถึงเรื่องงบ เราสามารถให้คำแนะนำ ทำแบบให้ได้ เสนอทางเลือกเป็นดีไซน์ไกด์ไลน์ให้ได้ว่าถ้าทำแล้วควรทำรูปแบบนี้ ตามงบประมาณเท่านี้ ส่วนงบประมาณที่จะเอามาซ่อมก็อาจจะต้องช่วยกันคิดในชุมชนว่า ใครสามารถจะช่วยเหลือด้านไหนได้บ้าง ตรงนี้เราก็จะเป็นสื่อกลางในการจัดการ”

    อะไรคือความท้าทายของบริษัทที่เปิดมาเพื่อซ่อมแซมบ้านเก่าโดยเฉพาะ
    “ในเรื่องของการซ่อมแซมอาคารเก่า ไม่ได้กลัว เพราะว่ามีผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายภาควิชาการ แต่ว่าการทำงานกับชุมชนเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานและความสนใจไม่เหมือนกัน การทำงานกับแต่ละองค์กรหรือภาคประชาสังคมของที่นี่ก็มีหลากหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีความสนใจเฉพาะทาง เราก็ต้องอาศัยความจริงใจ ต้องเลือกให้ถูกกลุ่มว่าจะเอากลุ่มไหนมาทำงานกับกลุ่มไหน หรือว่างานประเภทนี้ควรทำงานกับกลุ่มไหน โชคดีที่คนที่นี่ค่อนข้างรักเมือง ก็เลยร่วมตัวกันค่อนข้างง่าย”

    แล้วมุมมองของคนสงขลากับมรดกทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างไร
    “คนสงขลาค่อนข้างมีความรู้และรสนิยม เห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงของเมือง บางส่วนภาครัฐส่งเสริม บางส่วนภาคเอกชนส่งเสริม เราก็จะเห็นภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่มีไอเดียเกี่ยวกับการดูแลตึกเก่า อย่างเช่น บ้าน a.e.y.space ก็ได้รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ ซึ่งเป็นภาคประชาชนที่ดูแลเอง แล้วใช้พื้นที่จัดกิจกรรมศิลปะของเมือง ทำให้คนในพื้นที่ค่อนข้างตื่นตัวและเห็นความสำคัญว่าตึกเก่าเอามาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ก็มีตึกอื่นๆ อีกหลายหลัง หลายกลุ่มที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เอาตึกเก่ามาใช้และมีไอเดียที่ดี”

    ในสงขลามีการคุนกันไหมว่าต้องรักษาฟาซาดด้านหน้าอาคารเอาไว้
    “เราคุยกันแล้ว ตอนทำเรื่องแผนการพัฒนาเมืองเก่าก็มีเอกสารออกมาแล้ว มีดีไซน์ไกด์ไลน์ว่าอาคารแต่ละยุคจะเก็บรักษาฟาซาดอย่างไร ไม่ให้ลดคุณค่าของอาคาร หรือการทาสี การวางอุปกรณ์ประกอบบ้านเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าทางปฏิบัติ ดีไซน์ไกด์ไลน์ยังใช้ไม่ได้ 100% เพราะว่าไม่สามารถกำหนดเป็นกฎหมายได้ ก็ต้องให้ความรู้ อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้แล้วคือกฎหมายควบคุมอาคาร โดยความสูงต้องไม่ให้เกินเส้นขอบฟ้า เพราะที่นี่ตึกส่วนมากอยู่ที่ 2-3 ชั้น สูงสุดก็ประมาณ 4 ชั้น รวมถึงการกำหนดพื้นที่ต่อเติมอาคารเก่า ซึ่งเราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาเก็บพื้นที่อาคารเก่าเอาไว้ เลยออกกฎหมายที่เข้ามาช่วยว่า ถ้าทุบอาคารเก่าแล้วสร้างใหม่ จะทำให้ระยะเซ็ตแบ็กตัวอาคารน้อยลง ถ้ารีโนเวดหรือซ่อมแซมก็สามารถใช้พื้นที่อาคารได้เต็มกรอบเหมือนเดิม”

    คิดว่าการเกิดขึ้นของสงขลาเฮอริเทจ จำเป็นแค่ไหนกับการผลักดันให้สงขลาเป็นเมืองมรดกโลก
    “เราเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่ง เพราะว่าในเกณฑ์ของมรดกโลกก็จะมีบอกว่าต้องดูแลรักษาอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นเป็นเร่ื่องการรักษาคุณค่าแท้ของเมือง อย่างด้านสถาปัตยกรรม ต้องรักษาความดั้งเดิมของอาคารไว้ เรื่องวัฒนธรรมประเพณีก็ต้องรักษาไม่ให้สูญหายไปตามการพัฒนาของพื้นที่ แล้วพูดถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ด้วย เราก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยในด้านนี้”

    วางเป้าหมายของสงขลา เฮอริเทจ สูงสุดไว้อย่างไร
    “เป็นองค์กรหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาเมือง ซึ่งถ้าพูดถึงภาครัฐกับภาคประชาชนที่ร่วมกันทำอะไรสักอย่าง ก็มักจะเกิดข้อขัดแย้ง ความข้องใจสงสัยบ้าง ซึ่งการที่มีองค์กรหรือธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามาช่วยเป็นเหมือนตรงกลาง แล้วเชื่อมเครือข่าย ช่วยเรื่องการสื่อสารให้เป็นแนวทางเดียวกันได้ เราก็อยากอยู่ตรงนั้นให้ได้ ในฝันส่วนตัวก็อยากให้มีพื้นที่ดีๆ เกิดขึ้นในเมืองเยอะๆ แล้วเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับคนยุคเก่ากับใหม่”