ชุมชนแพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ อันประกอบด้วยพื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม แต่ด้วยระบบนิเวศ 3 น้ำจึงเกิดปัญหาน้ำเค็มหนุนทำให้มีการสร้างประตูกั้นเพื่อป้องกัน ถึงอย่างนั้นกลับกลายเป็นการแบ่งฝั่งพื้นที่น้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกัน ซึ่งการเปิดหรือปิดประตูส่งผลกระทบต่อผู้คน สรรพสัตว์ และพืชพรรณ ทั้งยังสร้างความขัดแย้งของทั้งสองฟากฝั่ง
สถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในสายตาและชีวิตของ คุณปัญญา โตกทอง มากว่า 20 ปี นำมาซึ่งการหาหนทางคลี่คลายความขัดแย้ง โดยเริ่มเรียนรู้และถอดบทเรียนด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น และชักชวนชาวบ้านในพื้นที่หาวิธีบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ด้วยโครงการรูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง ซึ่งผ่านการระดมความคิดเห็นกว่า 40 เวที จนคิดค้นนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในระบบนิเวศ 3 น้ำ ด้วยประตูระบายน้ำแบบบานหับเผย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในอดีตและใช้ในนากุ้งและเรือนไทย โดยเปิดปิดตามธรรมชาติของน้ำ เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด ทั้งยังพลิกโฉมการจัดการระบบบริหารจัดการพื้นที่ระหว่างภาครัฐกับชุมชน โดยปัจจุบันทำการติดตั้งแล้ว กว่า 21 แห่ง เหนือสิ่งอื่นใดคือการลดความขัดแย้งของคนในชุมชนได้อีกด้วย
BLT จึงชวนชายวัย 62 ปี ผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนมานานกว่า 20 ปี มานั่งพูดคุยเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน อันเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหา
พื้นที่แพรกหนามแดงดั้งเดิมเป็นอย่างไร
“ตำบลแพรกหนามแดงเป็นพื้นที่น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด ตามวัฏจักร ในอดีตที่นี่ทำสวนมะพร้าวซึ่งอยู่กับน้ำกร่อยได้ ทำข้าวนาปี ปลูกหน้าฝน เกี่ยวหน้าหนาว แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ที่เมืองกาญจน์เสร็จปี 2520 อยู่ๆ น้ำจืดหาย น้ำเค็มรุกเข้ามาแทนที่ ชาวบ้านทำกินไม่ได้ก็ไปร้องเรียนกับทางการว่าน้ำเค็มรุก แต่ไม่ได้บอกว่าน้ำจืดหาย เพราะน้ำเค็มรุกแก้อย่าง น้ำจืดหายก็แก้อีกอย่าง ข้าราชการก็คิดตามปรากฏการณ์ก็มาสร้างประตูระบายน้ำกั้นน้ำจืดกับน้ำเค็ม”
ประตูระบายน้ำที่กั้นระหว่างสองฝั่งทำให้เกิดผลกระทบอะไร
“พอประตูระบายน้ำสร้างเสร็จ ประมาณปี 2524-2525 ก็เกิดปัญหาเลย เพราะน้ำเป็นตัวกำหนดพืช สัตว์ และอาชีพ คนอยู่น้ำจืดทำนาข้าว สวนผัก เลี้ยงปลาน้ำจืด ฝั่งน้ำเค็มเลี้ยงกุ้ง ปู ปลาน้ำเค็ม ทำให้ที่นี่มีอาชีพหลากหลาย พอเอาประตูมาใส่ ชาวบ้านสองฝั่งทะเลาะกัน เพราะประตูระบายน้ำต้องชักจากก้นขึ้นอย่างเดียว พอน้ำท่วมนาข้าว เขาก็จะเรียกกันมาเปิดประตูระบายน้ำ เปิดทีก็เอาน้ำขุ่นดำออกมาด้วย กุ้งปลาอยู่ไม่ได้ อีกพวกก็ยกมาสิบกว่าคน ด่าทอกันที่ประตูระบายน้ำ พอผู้นำชุมชนทราบข่าวก็ไปแจ้งนายอำเภอ ผู้ว่าฯ ว่ามีปัญหาความขัดแย้ง ลากมีดลากปืนมาทะเลาะกัน
“เดิมผมทำวังกุ้งน้ำเค็ม แล้วถึงมาทำบ่อปลาสลิดด้วย เลยกลายเป็นคนสองน้ำ ขับรถไปมาก็เห็นนาข้าวเขาเป็นนาหว่าน น้ำเซนติเมตรเดียวก็ท่วมแล้ว ต้องระบายออกให้แห้ง เวลาเปิดประตูน้ำก็มีทางเดียวคือต้องชัักจากก้น ทำให้คนสองฝั่งทะเลาะกัน ผมก็เข้าไปประชุมออกความคิดเห็นมาตลอด แต่ก็ไม่จบ เพราะกติกามันไม่ถูกใจคนทุกคน มันปฏิบัติยากมาก”
ตอนนั้นมีความคิดที่จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร
“ชาวบ้านคิดแก้ปัญหา แต่ไม่รู้จะแก้อย่างไร โดยมากเขาก็จะคิดตามปรากฏการณ์ว่าต้องไปบอกส่วนราชการ เพราะว่าเป็นเรื่องของส่วนรวม แต่ 20 กว่าปีผ่านไป รัฐก็แก้ไม่ได้ ปัญหาก็อยู่อย่างนั้น”
“ปี 2542 มีงานวิจัยของ สกว. (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.) ผมก็อาสาไป พอไปฟังก็ปิ๊งกับสิ่งที่อาจารย์บอก ถ้าจะแก้ปัญหาชุมชน ต้องให้ชุมชนเป็นคนแก้ไข โดยค้นหาข้อเท็จจริงเอามาเป็นข้อมูล เราก็เข้าใจและอยากจะแก้ แต่งานวิจัยเป็นอย่างไรก็ไม่รู้หรอก เพราะว่าจบ ป.4 ก็คิดในใจว่าทำไป เรียนรู้ไป ผมเขียนวิจัยเรื่องน้ำเสียประตูระบายน้ำ กับวิจัยน้ำเสียโรงงาน พัฒนาโครงการเกือบ 2 ปี อาจารย์ก็ไม่อ่าน อาจารย์บอกว่างานวิจัยต้องไม่มีโจทย์ ไม่มีจำเลย”
งานวิจัยต้องหาข้อเท็จจริง แล้วพบข้อเท็จจริงอะไรบ้าง
“สกว. ให้งบวิจัยปีครึ่ง 3 แสนบาท ช่วงแรกอนุมัติ 4 หมื่นบาทก็เอามาจัดเวทีชาวบ้าน ไปคุยในพื้นที่ขัดแย้ง แต่เขาก็บอกว่าอย่าไปเซ็นชื่อให้เพราะพวกนี้จะเอาเงินไปกิน เราไปคุยในเวทีก็บอกว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำ เขาก็หัวเราะเยาะบอกว่ากี่ผู้ว่าฯ กี่นายอำเภอแล้ว ยังแก้ไม่ได้ เราเป็นใคร ความรู้ ป.4 จะมาแก้ปัญหาได้อย่างไร
“พอมาเจอปัญหา สกว. ก็สอนเราว่า ก่อนทำให้วางแผน ทำกิจกรรมแล้วมาถอดบทเรียนว่าวันนี้ทำงานสำเร็จเพราะอะไร ไม่สำเร็จเพราะอะไร ที่คนพูดแบบนี้เพราะอะไร พอมาถอดบทเรียนดู คิดว่าพูดเรื่องงานวิจัยไม่ได้ เรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำก็ไม่ได้ ต้องคุยเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ไปคุยกับผู้สูงอายุซึ่งมีอิทธิพลต่อลูกหลานก็จะง่าย เราเข้าไปเหมือนลูกหลาน ถามว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างไรผมมาไม่ทัน อ่อนน้อมถ่อมตน เขาก็เหมือนญาติผู้ใหญ่ของเรา เขาเลยไปบอกลูกหลานว่าให้เข้ามาฟัง พวกนั้นมาคุยดี อยากจะช่วยแก้ไขปัญหา คนก็เลยเข้ามาในเวที”
ทำให้อย่างไรให้ชาวบ้านสองฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมกันได้
“อันดับแรกเราไปคุยกับคนที่เราคุยได้ก่อน เอาคนน้ำจืดมาคุยกับคนน้ำเค็ม เอาคนน้ำเค็มมาคุยกับคนน้ำจืด จากกลุ่มเล็กๆ ก็กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ 40 เวทีก็ทำแบบนี้แหละ แล้วใช้เงิน 3.9 หมื่นบาท เวลา 1 ปีครึ่งได้โมเดลเลย”
มีการพูดคุยระดมความคิดเห็นถึง 40 เวที ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
“เราไปถาม ไม่ได้ไปบอกว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไปขอความรู้ เขาก็ให้ความรู้เรา จริงๆ แล้วความรู้อยู่ในตัวคน ในชุมชน สกสว. เป็นเครื่องมือติดอาวุธทางปัญญาให้เราไปสกัดเอาความรู้ในตัวคน ความรู้ในชุมชนออกมา เพราะห้องแอร์กับท้องทุ่งไม่เคยเชื่อมกันเลย แต่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นทำให้ห้องแอร์เชื่อมกับท้องทุ่ง ติดอาวุธทางปัญญาให้ชาวบ้าน ไม่ใช่คนนอกมาคิดให้ คนนอกหวังดีเจตนาดีแต่ไม่มีความเข้าใจในวิถีในท้องถิ่น มันเลยกลายเป็นลิงแก้แห ยิ่งคิดยิ่งยุ่ง”
ชาวบ้านมีเสียงสะท้อนว่าอยากจะแก้ไขอย่างไรกับประตูระบายน้ำ
“ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะพูดแต่ปัญหา แต่ไม่พูดทางแก้ เวลาบอกรัฐก็บอกแต่ปัญหา ไม่ได้บอกทางแก้ไข สกสว. บอกให้เอาปัญหามาวิเคราะห์ แล้วจะเกิดแนวทางการแก้ไข พอเราได้ไปรับฟังข้อมูลในเวที ก็มีชาวบ้านพูดว่าปัญหาประตูระบายน้ำเป็นแบบนี้ ถ้าจะแก้ ต้องแก้อย่างไร โดยยกตัวอย่างวังกุ้งเวลาดันน้ำฝาท่อจะเปิดเอง เวลาดับเครื่องฝาท่อจะปิดเอง เขาเรียกบานสวิง คนน้ำจืดที่มีบ้านทรงไทยเขาก็พูดว่า หน้าต่างบ้านเวลาเช้าก็เปิดหน้าต่างแล้วเอาไม้ค้ำ เย็นมาปิดหน้าต่างก็เอาไม้ค้ำทำกลอนขัด เรียกว่าบานหับเหย ประตูระบายน้ำควรทำแบบหน้าต่างบ้าน แบบบานสวิงวังกุ้ง ทำแบบนี้จะไม่เกิดปัญหา ชาวบ้านก็ยอมรับทั้งสองฝ่าย แล้วให้พี่อุมา ศิลาวงศ์ ทำโมเดลประตูระบายขึ้นมา น้ำจืดมามันก็เปิด พอน้ำทะเลขึ้นก็ปิด สอดคล้องกับระบบนิเวศ”
ภาครัฐฟังเสียงชาวบ้านแค่ไหน
“ช่วงแรกๆ ไม่ฟังหรอก เพราะ ชาวบ้านจบ ป.4 ป.7 แล้วเขาเป็นด็อกเตอร์ มีแต่วิชาการ แต่ขาดประสบการณ์ของพื้นที่ เราบอกว่าราชการตรัสรู้ในห้องแอร์อย่างเดียว ไม่มีความเข้าใจ ชาวบ้านต้องการเอาม้ามาขี่ ดันเอาสุนัขมาให้ ขี่ไม่ได้มันกัดเอาด้วย จนตอนหลังสื่อเอางานวิจัยชาวบ้านไปลง ตีแสกหน้ากรมชลประทาน พอทำงานกับ สกว. เราก็อยากทำงานกับคนออกแบบ เขาก็ประสานงานไป พอคนออกแบบมาเห็นพื้นที่เขาถึงบางอ้อเลย ตั้งแต่วันนั้นมา กรมชลประทานได้ตั้งกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชนขึ้น เพื่อให้เกิดการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาในวิถีท้องถิ่น ไม่ใช่หวังดี เจตนาดี แต่ไม่เข้าใจ ราชการต้องเปลี่ยน”
จากนักร้องเรียนพัฒนาตัวเองอย่างไรจนมาเป็นนักคิดนักวิจัยท้องถิ่น
“สกสว. ติดอาวุธทางปัญญาให้ ผมเรียนน้อยก็จริง แต่เขาบอกให้คิดวิเคราะห์ 20 กว่าปีที่ผ่านมาร้องเรียนไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่มาทำแบบนี้ได้ผล แล้วต้องเป็นวิทยาศาสตร์ อย่าเอาความเชื่อ ความเห็น ความรู้สึกมา เขาไม่ฟังหรอก อะไรก็แล้วแต่ต้องพูดเป็นหลักวิชาการ หลักวิทยาศาสตร์ แล้วไม่ได้มีอคติ ไม่มีผลประโยชน์ เพราะถ้าใครทำงานการแก้ไขปัญหา หวังผลประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา ตัวเขาจะเป็นปัญหาตัวแรกที่แก้ไม่ได้”
สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานท่ามกลางข้อพิพาทคืออะไร
“การเข้าใจของคน เพราะคนเรียนรู้ไม่เท่ากัน ความคิดต่างสำหรับผมเหมือนดอกไม้หลากสีสัน การมีส่วนร่วมต้องคิดต่างเพื่อความตกผลึก แต่ถ้าต่างจากเราไปแล้วผิด มองคนเป็นศัตรู อันนี้ไม่ใช่ ต้องมองปัญหาเป็นศัตรู ต้องเห็นต่างได้ ยอมรับในข้อเท็จจริง ไม่ใช่เอาอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล จะเกิดเป็นความแค้น สำคัญที่สุดคือใจเราต้องยอมรับความเป็นจริง เรื่องยากที่สุดเลยคือการสร้างการเรียนรู้ให้คนเข้าใจ”
แพรกหนามแดงในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างไรหลังชุมชนมีส่วนร่วม
“ตอนนี้มีนักคิด นักวิเคราะห์เยอะ เรารวมตัวกันทำกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ สวัสดิการชุมชน ดูแลชาวบ้านเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย มีกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน ความเข้าอกเข้าใจกันก็มีระดับหนึ่ง แต่กาลเวลาเปลี่ยน ปัญหาก็เปลี่ยน มีปัญหาอื่นเข้ามาเยอะแยะ อย่างสองปัญหาใหญ่ที่ทำให้ชาวบ้านติดกับดักความยากจนอยู่ คือเรื่องปลาหมอสีคางดำ กับน้ำเน่าเสียในลำคลองที่มาจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง แล้วการแก้ไขของรัฐก็ยังไม่มีความเข้าใจ แต่เราก็ต้องพยายามส่งเสียงบอกแบบนี้ว่า แพรกหนามแดงทำไปกระทบนโยบายหมด อย่างเช่นเรื่องบานประตูระบายน้ำ”
ช่วยสรุปได้ไหมว่าอะไรคือหัวใจที่ทำให้ชุมชนและรัฐเกิดการมีส่วนร่วม
“ความสำเร็จขึ้นอยู่กับชาวบ้าน เพราะเป็นปัญหาของชาวบ้าน ไม่ใช่ของรัฐ แต่ถ้ารัฐมาแก้ อยากถามว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้ยั่งยืน เพราะกาลเวลาเปลี่ยน ปัญหาวิ่งมาตลอด จะยืดหยัดได้แค่ไหน มันก็ต้องสร้างคน แล้วติดอาวุธทางปัญหาให้เขา ทำอย่างไรให้มาคิดร่วมกันระหว่างรัฐที่มีวิชาการ กับชาวบ้านที่มีประสบการณ์ เอาสองสิ่งนี้มาแก้ไขปัญหาบนวิธีวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความรู้สึกของราชการหรือชาวบ้าน ต้องเอาข้อเท็จจริง”
“ความคิดต่างสำหรับผมเหมือนดอกไม้หลากสีสัน การมีส่วนร่วมต้องคิดต่าง เพื่อความตกผลึก แต่ถ้าต่างจากเราไปแล้วผิด มองคนเป็นศัตรู อันนี้ไม่ใช่ ต้องมองปัญหาเป็นศัตรู ต้องเห็นต่างได้ ยอมรับในข้อเท็จจริง ไม่ใช่เอาอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล”