ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ เช่นเดียวกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก เพื่อสนับสนุนร้านค้าและสร้างการซื้อขายในกลุ่มของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งได้สร้างกระแสเชื่อมโยงไปถึงคนนอกมหาวิทยาลัย ขยายตลาดกว้างขึ้น เริ่มตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้สร้างกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน” ขึ้นในวันที่ 7 เมษายน 2563 ตามด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างกลุ่ม “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” และอีกหลายมหาวิทยาลัยรวมไปถึงบางโรงเรียนแล้วด้วย
ชวนพูดคุยกับผู้ก่อตั้งและแอดมินกลุ่มตลาดออนไลน์จาก 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำ คุณแซน-ภาวรินทร์ รามัญวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน, คุณอาร์ม-ปาณพล จันทรสุกรี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส, คุณแฮม-สุวิทย์ เกียรติปิติพรชัย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม หอการค้า มาร์เก็ตเพลส และคุณลิลลี่-ชวลัน อรรถสุวรรณ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Marketplace ฝากร้าน ขายของ ตามหา : พวกเราจะต้องรอด ฝ่าวิกฤตโควิด
เล่าถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งกลุ่มตลาดออนไลน์
แซน TU : เริ่มแรกเลยคืออยากช่วยเพื่อนๆ ที่มีร้านค้ากันอยู่แล้วมาแลกเปลี่ยนซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กกัน แล้วด้วยความที่เป็นชาวธรรมศาสตร์เหมือนกัน ก็จะมีเส้นใยบางๆ มีเชื่อมถึงกันได้ เชื่อใจไว้ใจกันได้ คือเราตั้งใจทำเพื่อชาวธรรมศาสตร์จริง ๆ แต่ไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ แล้วเป็นกระแสไปแล้ว ซึ่งเราก็ดีใจมากๆ เพราะตอนนี้ในกลุ่มมีขายทุกอย่างจริง ๆ ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ส่วนที่มาของชื่อนี้ก็ไม่ได้มีนัยทางการเมืองใดๆ แอบแฝง เพียงแต่ว่าพอเราเตรียมทำกลุ่มนี้ขึ้นมา แล้วชื่อนี้ก็ผุดขึ้นมาเลย อาจจะเพราะเป็นชื่อเก่าของมหาวิทยาลัยด้วยทำให้เราคุ้นเคย ขื่อ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
อาร์ม CU : เริ่มจากที่เรามีสินค้าและอยากขาย เราจึงสร้างกลุ่มขึ้นมา ซึ่งการันตีว่าเราสามารถเชื่อใจทุกคนในกลุ่มได้ เพราะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในรั้วจุฬาฯ แต่เมื่อเปิดกลุ่มแล้ว นอกจากจะได้ขายสินค้าและบริการแล้ว เรายังได้เห็นว่าธุรกิจใหญ่หลายอย่างในประเทศไทยนี้ก็เป็นศิษย์เก่าของจุฬาฯ ซึ่งเขาพร้อมสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดเล็กได้มีโอกาสเติบโต ถือเป็นคอนเนคชั่นยิ่งใหญ่สำหรับกลุ่มเรามาก
แฮม UTCC : ต้องเล่าก่อนว่าการก่อตั้งกลุ่มเกิดจากความบังเอิญ ด้วยความที่มีศิษย์เก่าแนะนำมาว่า ในฐานะที่เราเป็นศิษย์เก่าและบุคลากรจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย น่าจะทำอะไรได้บ้างในภาวะวิกฤตนี้ เพราะสโลแกนคือ เด็กหอการค้า เด็กหัวการค้า อีกทั้งเรามีคอนเนคชั่นเยอะมากเกี่ยวกับด้านธุรกิจ เราก็ได้ปรึกษากับผู้ใหญ่ ทั้งท่านอธิการบดีและอาจารย์ ซึ่งทุกท่านก็ให้การสนับสนุน เราจึงสร้างกลุ่มนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางหารายได้ให้กับทุกธุรกิจ ขายทุกอย่างแม้แต่สัตว์เลี้ยงก็มี
ลิลลี่ SPU : กลุ่มของเราเริ่มจากการสนับสนุนของสองส่วนคือนักศึกษาและอาจารย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยน้องๆ ที่มีร้านค้า ทำงานพาร์ทไทม์ ได้มีพื้นที่ขายสินค้า โดยเราทำร่วมกันทั้งนักศึกษาและบุคลากร เราจึงมาร่วมสร้างพื้นที่ของเด็กๆ มหาวิทยาลัย และมีกลุ่มสำหรับร้านค้ารอบๆ SPU ด้วย โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าไปสนับสนุน เป็นการต่อยอดให้กับชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ความประทับใจหลังจากเปิดตลาดออนไลน์มหาวิทยาลัย
แซน TU : ที่ประทับใจคือ มีพี่ที่ทำร้านขายโรตีส่งขนมมาให้ทาน เพราะเขาบอกว่าหลังจากมาขายในกลุ่มธรรมศาสตร์และการฝากร้าน ก็มีออเดอร์เข้ามาเยอะมาก สามารถช่วยชีวิตพนักงานกว่า 20 ชีวิตได้ หรืออย่างน้องหมอดู ที่มาฝากร้านในกลุ่มก็มีลูกค้าตามเพจน้องเขามากขึ้น สร้างรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19
อาร์ม CU : ด้วยความที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่มานานมาก ทำให้เราได้เห็นคุณตาคุณยายศิษย์เก่าเข้ามาในกลุ่ม อย่างล่าสุดมีคุณยายพิมพ์มาในกลุ่มว่าขอบคุณที่มีจุฬาฯมาร์เก็ตเพลส ทำให้คุณยายได้พบรุ่นหลาน ๆ เพิ่มความกระชุ่มกระชวยในวัยหลังเกษียณ ซึ่งเราประทับใจมากจริงๆ ที่ได้มีส่วนช่วยให้คุณยายมีความสุขขึ้น นอกจากนี้ เรายังได้เห็นผลตอบรับทางธุรกิจไปไกลมาก สร้างเม็ดเงินได้มหาศาลเลยทีเดียว ทำให้ธุรกิจรันไปได้ในขณะที่เกิดวิกฤต
แฮม UTCC : เราได้เห็นคอนเนคชั่นของคนในแวดวงธุรกิจในประเทศไทยที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยหอการค้า
ลิลลี่ SPU : ด้วยความที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมทำ CSR มาตลอด ก็ได้ปลูกฝังนักศึกษาศรีปทุมด้านนี้กันอยู่แล้ว พี่น้องทุกคนได้ช่วยเหลือกัน คือตอนที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเราก็ไม่คาดคิดว่าจะบูมขึ้นขนาดนี้ เพราะชื่อมหาวิทยาลัยของเราก็ไม่ได้ดังขนาดธรรมศาสตร์หรือจุฬาฯ แต่ก็ได้รับการแชร์ออกไปมากเช่นกัน
มีโอกาสพัฒนากลุ่มตลาดออนไลน์ไปในทิศทางใดบ้าง
แซน TU : ย้ำเลยว่า เราไม่ต้องการหารายได้อะไรจากกลุ่มนี้ แต่ในอนาคต ถ้ามีผู้สนับสนุนเราก็จะให้เป็นในเรื่องการส่งต่อความรู้ เช่น ถ้าคนในเพจต้องการยกระดับค้าขายออนไลน์แล้วจะพัฒนาอย่างไรบ้าง เราก็จะช่วยสนับสนุนด้านนี้ แต่เราจะไม่ทำเป็น Commercial หารายได้แน่นอน นอกจากนี้ในปัจจุบันเราก็จะช่วยสร้างบรรยากาศให้เพจครึกครื้น ให้ตลาดไม่เงียบ เพื่อคนขายจะได้มีเอนเกจเม้นท์เพิ่มขึ้น
อาร์ม CU : เป้าหมายหลักคือ เราตั้งใจทำคอมมูนิตี้เพื่อสนับสนุนกัน แต่ก็มีรุ่นพี่เจ้าของธุรกิจที่เขาอยากสนับสนุนเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มนี้ อยากเป็นสปอนเซอร์ เพื่อที่เราอาจจะนำเงินตรงนี้ไปสนับสนุนกิจกรรมนิสิตต่างๆ ซึ่ง ณ ตอนนี้เรายังไม่คิดไกลถึงขนาดนั้น เพราะยังอยู่ในสภาวะไม่ปกติอยู่ แต่อนาคตหากพ้นวิกฤตไปแล้ว เราก็จะดูกันอีกที
แฮม UTCC : ในส่วนของมหาวิทยาลัยหอการค้า มีการคุยเบื้องต้นกันไว้แล้ว แต่วัตถุประสงค์แรกคือ ต้องการให้ทุกธุรกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19ไปให้ได้ ต่อจากนี้เพจเราก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ ด้านการสอนการแชร์ประสบการณ์ด้านธุรกิจ เพราะเรามีบุคลากรด้านนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้เราก็จะมีอีเว้นท์บ้าง เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในเพจ เพราะทางมหาวิทยาลัยเองก็มีชมรมดนตรีสากล ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้พวกเขา ที่สำคัญคือ เมื่อเราได้คอนเนคชั่น ก็คาดหวังว่า อนาคตเราจะเปิดร้านตลาดนัดที่เคยมาเปิดขายในเพจนี้ มาขายกันจริงๆ ในตลาดจริง
ลิลลี่ SPU : อันที่จริงเราวางแผนไว้ทั้งปีเลย โดยสิ่งที่เราจะให้ผู้ประกอบการคือ จะมีคอร์สสอนธุรกิจต่างๆ อย่าง การถ่ายภาพอย่างไรให้ขายได้ ก็จะเป็นการส่งเสริมการขายให้ผู้ประกอบการด้วย
———–
Special Thanks : Business Today, Host : Vitaya Saeng-Aroon
รับชมคลิปการสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ Business Today Thai https://www.youtube.com/watch?v=tz6jPsFGNB0