ชวนพูดคุยกับ “คุณป้าทัศนีย์ ยะจา” เจ้าของแบรนด์ “ChiangMai Celadon (เชียงใหม่ศิลาดล ดอยสะเก็ด)” เครื่องเคลือบกรรมวิธีแบบโบราณที่ทรงคุณค่า และเป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น สร้างสรรค์โดยผู้คนในพื้นที่เพื่อให้เป็นสินค้าที่จะถ่ายทอดออกสู่สายตาคนทั่วโลก ทั้งยังเป็นหัวเรือใหญ่แห่ง “ข้าวต้มมัด Society By ทัศนีย์” ที่เคยเป็นเพียงงานอดิเรก แต่หลายคนติดใจในรสชาติ และฝีมือจนต้องทำขาย
สำหรับศิลาดลเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือ Thai Geographical Indication ที่ผลิตจากวัตถุดิบ และผลิตในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์โดยใส่ใจในสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย
“เชียงใหม่ศิลาดล เครื่องเคลือบดินเผาเขียวหยกมรดกแห่งล้านนา จากเนื้อดินดำที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดบนพื้นราบ อ.แม่ริม แม่แตง สู่ยอดดอยพระพุทธบาท 4 รอย นำมารังสรรค์ด้วยจิตวิญญาณของช่างสล่าคนเมือง ด้วยการปั้น แปะ แกะ ขูด ขีด เขียน เคลือบ เผา ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ศิลาดล ภายใต้แบรนด์เชียงใหม่ศิลาดล by ทัศนีย์ @ดอยสะเก็ด เพื่อส่งต่อให้ชาวไทยและชาวโลกได้สัมผัสและชื่นชมด้วยความสุข”
จุดเริ่มต้นของแบรนด์เชียงใหม่ศิลาดล
คุณป้าทัศนีย์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นทำธุรกิจศิลาดลมาตั้งแต่ปี 2530 แต่ในปี 2557 เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ทำให้ต้องยุติธุรกิจเดิม และมีโอกาสได้เริ่มสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ในชื่อ “ChiangMai Celadon เชียงใหม่ศิลาดล ดอยสะเก็ด
” ในปีนั้น โดยมองว่าเราจะพัฒนาเครื่องเคลือบศิลาดลของเราสู่สายตาชาวไทย และชาวโลก ให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติ และสากลได้อย่างไร เพราะตรงที่ที่เราอยู่เป็นเพียงถนนทางผ่าน ไม่ได้เป็นเส้นทาง Business แต่หากเราจะดิ้นรนไปอยู่ในเส้น Business ก็จะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
เมื่อมองแบบนั้นจึงบอกกับตัวเองว่าจะทำตัวเองให้แข็งแรง และจะทำให้คนได้รู้จักเราด้วยสิ่งที่เรามีอยู่ โดยค่อยๆ พัฒนาไปตามกำลัง พร้อมกับเข้าโครงการอบรมต่างๆ เพื่อให้คนรู้จักเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนของตัวเองมาก ควบคู่ไปกับการทำแบรนด์ “ข้าวต้มมัด Society By ทัศนีย์” ที่เคยเป็นเพียงงานอดิเรก แต่หลายคนติดใจในรสชาติ และฝีมือ
เตรียมพร้อมการปรับตัว เพื่อรับสิ่งใหม่
ป้าเป็นคนที่ใฝ่เรียนรู้เสมอ พร้อมกับปรับตัวเองให้เข้ากับนโยบายภาครัฐ โดยมักจะมองเห็นโอกาสในโครงการสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ OTOP ซึ่งมองว่าถ้าเราอยู่ใน OTOP ธุรกิจของเราจะเป็นที่ 1 แต่ถ้าเราไปอยู่ในส่วนของ SME เราก็จะเป็นแค่โรงงานเล็กๆ
คือถ้ามีโครงการอะไรเข้ามาป้าสามารถเชื่อมสะพานต่อได้เลย แต่ถ้าเรายังคิดแบบเก่าอยู่ ไม่ใส่ใจ หรือคิดว่าที่ทำอยู่มันดีแล้วมันก็ไม่ใช่ ซึ่งป้าต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตลอด ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีทั้งแบบที่เป็นสแตนดาร์ด ประเภทคอลเลคชัน รวมถึงชิ้นมาสเตอร์พีซ และงานศิลปิน
กรรมวิธีแบบโบราณ เป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน
ศิลาดลต่างกับเซรามิก โดยศิลาดลของป้าเป็นศิลาดลจากธรรมชาติ กระบวนการปรุงดินก็ทำเอง น้ำเคลือบก็ปรุงเอง ให้คนในพื้นถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่มาช่วยกันทำ ซึ่งป้าพยายามจะรักษาเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของศิลาดลเอาไว้ ขณะเดียวกันก็พัฒนาให้เหมาะกับชีวิตคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกัน
แน่นอนอยู่แล้วว่าเมื่อเราปรุงดินเอง ปรุงน้ำเคลือบเอง จุดแข็งของเราก็เลยอยู่ที่กรรมวิธีแบบโบราณ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความแกร่ง เคาะแล้วมีเสียงดังกังวาล ส่วนน้ำเคลือบที่ปรุงเอง ทำให้มีสีเขียวในแบบเฉพาะ พิเศษ และไม่เหมือนใคร ขณะเดียวกันความปราณีตของลวดลาย ก็มีความเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ จนได้รับตราสัญลักษณ์ GI (Geographical Indication) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้เป็น Mass Product แต่เป็น Handy Craft บวกด้วย Innovation จากสิ่งใกล้ตัว อาทิ การนำกากกาแฟมาทำน้ำเคลือบ โดยในตอนนั้นมองว่าเชียงใหม่เป็นเมืองกาแฟ จึงนำกากกาแฟมารีไซเคิลผสมน้ำเคลือบ เป็นน้ำเคลือบกากกาแฟ สู่ถ้วยกาแฟเคลือบกากกาแฟจนได้เป็น Product Hero ของ 1 จังหวัด 1 ผลิตภัณฑ์
ถึงแม้ว่าเราจะชูความเป็นอัตลักษณ์แบบดั้งเดิมของศิลาดล แต่สำหรับดีไซน์เราก็พัฒนาไปตามยุคสมัย รวมถึงลวดลายที่มีการผสมผสาน อย่างลายช้างของเรา ก็จะเป็นช้างแบบโมเดิร์น มีความร่วมสมัย นอกจากนี้ยังได้พัฒนาศิลาดลสีเขียวธรรมดา เป็นสีน้ำเงิน หรือ Blue Celadon ซึ่งก็จะมีความเท่ ทันสมัย และมีเสน่ห์ไปอีกแบบ
เชียงใหม่ศิลาดล เป็นมากกว่าโรงงานทำเครื่องเคลือบ แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ และใช้ชีวิต
รู้สึกโชคดีมากที่เราได้ปรับเปลี่ยนความคิด ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพราะในปัจจุบันการสื่อการ การขายค่อนข้างแรงแต่เนื่องจากตลาดหลักของป้าคือตลาดในประเทศ ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวไทย และชาวต่างชาติทั่วโลกที่มาท่องเที่ยวในเชียงใหม่ และอยากจะหาสินค้าที่น่าจดจำ มีเรื่องราว คือถ้าเขามาที่นี่เขาไม่ต้องซื้อก็ได้ แต่เขาจะได้ซึมซับ ได้เห็นกระบวนการ ได้เห็นการทำงานของช่าง หรือสล่าของเรา อย่างดินเขาก็ได้เห็นว่าเราเอามาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร เสมือนว่าที่นี่เป็น Learning Center ขนาดย่อมที่ให้เด็กนักเรียน องค์กรต่างๆ เข้ามาดูงานทั้งในเรื่องภูมิปัญญา รวมถึงการดำเนินธุรกิจ
อีกอย่างชุมชนในดอยสะเก็ดมีเสน่ห์ของความเป็นชาวบ้าน ไม่ได้มีความเป็นธุรกิจมาก อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำสวน ทำไร่ทำนา ซึ่งงานหัตถกรรมที่ป้าทำ ป้าก็นำมาประยุกต์เข้ากับชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดศูนย์รับบริจาคโลหิต ร่วมกับอำเภอดอยสะเก็ด เพื่อให้บริการกับชาวชุมชน จากที่ชาวบ้านไม่เคยเข้ามาที่นี่เมื่อชาวบ้านเข้ามาบริจาคโลหิตพวกเขาก็จะได้มาเห็นงานของเรา เห็นสถานที่ทำงานของพนักงาน เห็นงานฝีมือจากดิน
บ้านหลังที่ 2 ที่ทุกคนสามารถไปท่องเที่ยว ชอปปิง และพักผ่อนได้อย่างอบอุ่น
นอกจากการทำโรงงานให้เป็น Learning Center แล้ว ป้ายังมองเห็นโอกาสโดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยว เนื่องจากเรามีต้นทุนในเรื่องของโรงงาน โชว์รูม รวมถึงภูมิปัญญา จึงตัดสินใจพัฒนาพื้นที่ที่เป็นทั้งบ้าน และโรงงานให้เป็นสถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ที่ทุกคนสามารถเข้ามารับประทานข้าว ทำกิจกรรม หรือท่องเที่ยวได้
ซึ่งในภาวะวิกฤต ก็มีความคิดว่าจะทำ ChiangMai Celadon for life สำหรับทุกคน โดยสร้างคอนเซปต์ว่าที่นี่เป็นบ้านหลังที่ 2 สำหรับทุกคน ที่ทุกคนสามารถเข้ามาสัมผัสได้ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ตลอดจนการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขท่ามกลางธรรมชาติ และได้ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
โดยเราก็จะเอาปัจจัย 4 ที่เรามีอยู่มาเสิร์ฟ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพัก อาหาร ยารักษาโรคซึ่งก็คือบรรยากาศที่ล้อมรอบด้วยสวน และทุ่งนา สภาพแวดล้อมที่อบอุ่น เนื่องจากปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่าทุกคนกลับมารักตัวเอง หาอะไรที่มีคุณค่าให้กับตัวเอง หาอะไรที่ใช้แล้วบ่งบอกถึงรสนิยม
ข้าวต้มมัด จากอดิเรกที่ทำเพื่อแจกให้ชิม สู่อาชีพหลักหลังโรงงานต้องปิดชั่วคราว
สำหรับข้าวต้มมัดเริ่มมาจากการทำขนมร่วมกับคนในครอบครัว ไปวัดบ้าง แจกบ้าง ทำมานานกว่า 20 ปีจนได้สูตรที่ขึ้นชื่อว่าอร่อย และหลายคนเรียกร้องให้ทำขาย จึงทำขายอย่างจริงจัง ในปี 2557 ควบคู่ไปกับการทำแบรนด์เชียงใหม่ศิลาดล
ซึ่งป้าคัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุด และต้องสุดยอดที่สุด เลือกข้าวที่มีคุณภาพ ถั่ว และงาที่ดี จากที่ลองผิดลองถูกมานาน จนวันนี้เรารู้สูตรที่อร่อย ว่าต้องใช้ข้าวเก่าขนาดไหน ใบตอง กล้วยต้องใช้แบบไหน และสามารถควบคุมคุณภาพได้ จนขณะนี้เรามีคอนเน็กชันกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านปลูกกล้วย ปลูกใบตองมาขายให้ รวมทั้งยังเลือกใช้ถั่วแดง ซึ่งปกติส่วนมากเขาจะใช้ถั่วดำ เนื่องจากว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกถั่วแดงในโครงการหลวง บนดอยอ่างขาง ป้าจึงเลือกใช้ถั่วแดง ทั้งยังใส่งาขี้ม้อน ซึ่งมีเฉพาะบนดอยทางเหนือเท่านั้น และยังเป็นธรรมชาติ ออแกนิก จนกลายมาเป็นซิกเนเจอร์แล้ว
จากที่เราเคยนำศิลาดลไปออกร้าน ออกงานขายตามสถานที่ต่างๆ แต่ในวิกฤตโควิด-19 การขายข้าวต้มมัดทำให้เรามีช่องทางที่จะได้เงิน จนต้องบอกว่าตอนนี้โชคดีที่มีอาชีพรองคือข้าวต้มมัด อีกอย่างมีลูกหลานที่อยู่กรุงเทพฯ ก็เอาไปโปรโมทในสื่อโซเชียลต่างๆ ซึ่งปกติงานหลักของป้าคือทำศิลาดล และข้าวต้มมัด พอมีโควิด-19 ป้าก็กระทบโดยตรง เพราะตลาดของป้าคือตลาดนักท่องเที่ยว รวมถึงการไปออกงานอีเวนท์
ตั้งแต่ทำศิลาดลมาเกือบ 30 ปี ไม่เคยปิดโรงงาน เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้เราต้องปิดโรงงานชั่วคราว ซึ่งข้าวต้มมัดสามารถช่วยชีวิตป้า อย่างน้อยๆ ก็ทำให้ป้ามีสติ ช่วยจรรโลงจิตใจ มีอะไรทำ แถมได้มีรายได้ด้วย จากงานอดิเรกในสมัยก่อน ตอนนี้จึงกลายเป็นงานหลัก ที่สร้างรายได้
มองวิกฤตให้เป็นโอกาส ถึงจะต้องปิดโรงงานชั่วคราว แต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้ปรับปรุง และรีโนเวท
ป้ามองว่าป้าจะต้องไม่หยุดนิ่ง ทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน ยิ่งหยุดนิ่งยิ่งตาย กำลังใจก็ไม่มี ระหว่างที่นั่งห่อข้าวต้มมัดก็คิดไปด้วย ซึ่งจากการปิดโรงงานชั่วคราว 3 เดือน ไม่มีออเดอร์ ไม่ได้ไปออกงาน เลยใช้โอกาสนี้ปรับปรุงโรงงานให้สะอาด เตรียมพร้อมการกลับมาเปิดอีกครั้ง เพราะคิดว่าเดี๋ยวนักท่องเที่ยวก็จะกลับมาแอ่วที่นี่
แต่ระหว่างที่ปิดโรงงาน โดยที่ยังมีลูกค้ามาซื้อข้าวต้มมัด ลูกค้าก็ได้เดินชมรอบๆ ที่นี่ไปพลางๆ และเมื่อไปเห็นโชว์รูมศิลาดล ลูกค้าก็ได้ชอปปิงไปด้วย อาจจะไม่มากแต่ก็พอมีอยู่
การมีสติ คือแนวคิดที่อยากส่งต่อ
สติอย่างเดียวจริงๆ ขอแค่ให้มีสติ อย่างป้าวันนี้ตั้งแต่ทำโรงงานศิลาดลมาไม่เคยปิดเลย อยู่ดีๆจะมาปิดถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรก็ไม่ได้หรอก พอมีโควิด-19 มันเหมือนทำให้เรารีแลกซ์ ได้กลับมาคิดกับตัวเอง เรียบเรียงสิ่งที่เราทำมา อยู่กับปัจจุบัน แล้วมองให้เป็นโอกาสมันจะทำให้เราคิดอะไรออก
ทุกอย่างที่เคยขึ้นไปยังจุดสูงสุดยังไงก็ต้องลงมา คนเราจะอยู่เป็นที่ 1 ไปตลอดไม่ได้ ทุกอย่างเป็นสัจธรรม เป็นธรรมชาติ วันนี้ป้าบอกได้เลยว่าป้าต้องขอบคุณเหตุการณ์ ไม่อย่างนั้นป้าก็จะไม่ได้กลับมาย้อนมองตัวเอง บางสิ่งที่เราไม่เคยทำป้าก็ใช้โอกาสตรงนี้ปรับปรุง ทำโรงงานให้สะอาด จัดอะไรต่างๆ ให้เป็นระเบียบ ได้คิดต่อยอดผลิตภัณฑ์ ยิ่งของใช้แบบนี้ในสมัยก่อนจะบูมมาก แต่ตอนนี้ไม่ว่าที่ไหนก็มีหมด ถ้าเราไม่มีอะไรเด่น ไม่มีอะไรต่าง ไม่มีอะไรใหม่ ก็จะอยู่ไม่ได้
ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เหมือนเป็นธรรมชาติ เหมือนมันถึงเวลา เราต้องหัดคิดให้เป็น ถ้าเรายังคิดแบบเก่าอยู่ ตัวก็จะวุ่นวาย ไร้ค่า และจะไม่มีชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือสติ สติมาปัญญาก็จะเกิด รู้จักนำมาพิจารณา พัฒนา ตัวเราทุกคนมีจุดดี และจุดด้อย อยู่ที่ว่าเราจะดึงตรงนั้นออกมาใช้ได้ยังไง
ช่องทางการติดต่อ
Facebook : ChiangMai Celadon เชียงใหม่ศิลาดล ดอยสะเก็ด, ข้าวต้มมัด Society By ทัศนีย์
Website : http://www.chiangmaiceladon.com/
โทร. 091 562 2455, 089 952 9289