Thursday, December 8, 2022
More

    วทันยา วงษ์โอภาสี นางฟ้าลูกหนังกับก้าวแรกในสนามการเมืองไทย

    วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ “มาดามเดียร์” อดีตผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยชุดเล็ก รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ผู้ได้รับฉายาว่า “นางฟ้าลูกหนังไทย” ถือเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่สนามการเมืองเมื่อเธอตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)


    นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้บริหารสปริงนิวส์ และเพจกีฬาชื่อดัง “ขอบสนาม” โดยสร้างชื่อให้กับประเทศไทย นำทีมชาติไทยคว้าเหรียญทอง กีฬาซีเกมส์ ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2560

    สำหรับการเข้ามามีบทบาททางการเมืองครั้งนี้ เธอให้ความเห็นถึงความเท่าเทียมว่า สังคมปัจจุบันเปิดกว้างทางความคิด เรื่องเพศไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเข้ามาทำงานด้านการเมือง สุดท้ายวัดกันที่ผลของงาน ดังเช่นที่เธอประสบความสำเร็จ ทั้งจากการพาฟุตบอลทีมชาติไทยชนะการแข่งขัน และนั่งตำแหน่งบอร์ดผู้บริหารในองค์กรใหญ่


    เหตุผลที่ตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองไทย?
    ที่ผ่านมาเราจะค่อนข้างชัดเจนว่าเราทำอาชีพสื่อ จึงไม่ควรเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่มีโอกาสได้คุยกับผู้ใหญ่ ท่านเลยให้คำแนะนำว่าถ้าเราทำอาชีพสื่ออย่างเดียวก็จะเป็นแค่คนที่ได้แต่มองอยู่ข้างๆ คอยตั้งคำถามและสังเกตการณ์ไป ถ้าเราคิดว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงและมีส่วนผลักดันในหลายๆ เรื่อง ก็ควรเริ่มต้นที่จะลงมือทำ และในแง่ของบริบททางการเมืองที่จะต้องมีการเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ขั้นตอนแรกก็เลยหนีไม่พ้นว่าเราจะต้องเข้าไปเป็นสมาชิกสังกัดในพรรคการเมืองก่อน

    หลังจากเข้ามาแล้วมีประเด็นไหนที่อยากผลักดันบ้าง?
    โดยส่วนตัวหลักๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องดิจิทัล เรื่องเทคโนโลยี อาจเป็นเพราะเราทำอาชีพสื่อ และคนในอุตสาหกรรมนี้ก็จะมองเห็นชัดเจนว่าผล  กระทบจากการเปลี่ยนแปลงจะเกิดอะไรขึ้น เพราะได้รับผลกระทบทางตรง อย่างตอนนี้สำนักข่าวหลายแห่งก็สามารถก่อร่างสร้างตัว ไม่ต้องมีบริบทขององคาพยพนักข่าวหรือต้นทุนของการทำสื่อ อย่างสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีต้นทุน เช่น ค่ากระดาษ ค่า Production สัมปทานโทรทัศน์ ฯลฯ ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างจะสูง เราก็จะเห็นว่าตอนนี้มีสื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาค่อนข้างเยอะ ยังไงเรื่องดิจิทัลก็จะเข้ามาถึงชีวิตเราไม่ช้าก็เร็ว เข้ามาแน่นอน ถ้าเราไม่เตรียมตั้งรับก็จะกลายเป็นอุปสรรคหรือเรียกว่า Digital Disruption แต่ถ้าเราเตรียมพร้อมก่อน สิ่งเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนจาก Threats กลายเป็น Opportunities ได้ และในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีนั้นเข้ามาเต็มรูปแบบ มันก็คงไม่ใช่แค่คนในอุตสาหกรรมที่เป็นสื่อเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่จะมีผลกระทบกับทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมในภาคธุรกิจด้วย


    คิดอย่างไรกับปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย?
    ช่วงที่ผ่านมาได้ยินคนพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างเยอะ ความจริงในส่วนรัฐบาลเองก็มองเห็นถึงสภาวะเรื่องความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล คสช. รัฐบาลก่อนๆ ก็มีการตั้งงบประมาณภาครัฐเพื่อไปช่วยแก้ไขปัญหานี้ จะเห็นว่ามีการตั้งงบฯ ในทุกปีแต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป ดูตัวเลขแล้วเราก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ในอันดับต้นๆ ดังนั้น ดิจิทัลเองก็สามารถที่จะเติมเต็มในหลายๆ ส่วน ในการลดพื้นที่ของความเหลื่อมล้ำลง เริ่มเห็นว่าหลายๆ พรรคก็จะมีนโยบายเรื่องนี้มา และคิดว่าไม่น่าจะต่างกันมาก อาจต่างกันในเรื่องของนโยบาย ในเรื่องของการดำเนินงาน

    อย่างนโยบายที่เกี่ยวกับการศึกษาก็สามารถนำระบบออนไลน์หรือดิจิทัลเข้ามาเสริมสร้าง เพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำในเรื่องของโอกาสระหว่างเด็กในพื้นที่ชายขอบกับเด็กที่อยู่ในพื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ

    สำหรับรายละเอียดนั้นก็เคยเสนอไปกับทางผู้ใหญ่ในพรรคแล้ว ซึ่งผู้ใหญ่ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้มากๆ เปิดโอกาสให้ทำได้ ไม่ใช่กับเฉพาะตัวเราเอง แต่ก็เปิดโอกาสให้กับเด็กรุ่นใหม่ในพรรค หากใครมีไอเดีย อยากจะผลักดันเรื่องไหนก็สามารถเขียนแผนงาน เสนอไอเดียขึ้นไปเพื่อกำหนดเป็นนโยบายพรรคได้

    คิดว่าสนามการเมืองไทยปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากแค่ไหน?
    ไม่เป็นอุปสรรคเลย อย่างทุกวันนี้เราก็ทำงานเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริหารองค์กรสื่อที่ผ่านมาก็จะเป็นผู้ชายมากกว่า หรืออีกบทบาทที่เราก็น่าจะพิสูจน์ได้ในระดับนึงก็คือการเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย แล้วก็เป็นผู้จัดการชุดผู้ชายด้วย ซึ่งเราก็เป็นผู้หญิงคนแรกที่เข้าไปทำบทบาทในฐานะผู้จัดการนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่เป็นผู้ชายอย่างเดียว

    สังคมปัจจุบันโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ จะมีความบาลานซ์ในเรื่องของเพศ การเปิดกว้างทางความคิด และเราก็เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นรุ่นผู้ใหญ่ก็ดีหรือรุ่นเด็กก็ดี สุดท้ายวัดกันที่ผลของงานมากกว่าที่จะมาตัดสินคนเรื่องเพศ โดยความตั้งใจในการทำงานของเรา เราตั้งใจทำอะไรแล้วเรา ค่อนข้างจะทำจริงจัง แล้วเราเคยมีประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาด้วย ไม่ใช่รุ่นใหม่แบเบาะที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์เลย แล้วก็เชื่อว่าคนที่เคยทำงานบริหารองค์กรหรือทำธุรกิจมาก่อน ก็จะเข้าใจในเรื่องของหลักการบริหารจัดการ การบริหารคน บริหารสภาวะและปัญหาวิกฤตต่างๆ ซึ่งในการทำงานมันสอนอะไรเรามาค่อนข้างเยอะ ดังนั้น เรื่องเพศไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเข้ามาทำงานด้านการเมืองเลย โดยเฉพาะในพื้นที่การเมืองเองก็มีผู้หญิงหลายคนก้าวเข้ามา เราไม่ใช่คนแรกด้วยซ้ำ


    ในฐานะที่เป็นผู้หญิงจะมีวิธีรับมืออย่างไรกับข่าวปลอม เช่น เรื่องชู้สาว?
    ไม่กังวลเลย ถ้ามันจะมีปัญหาแบบนั้น ที่ผ่านมาก็คงมีตั้งแต่ตอนทำงานฟุตบอลเอย อะไรเอยก็มีปัญหาความสุ่มเสี่ยงเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ว่าสุดท้ายก็อยู่ที่ตัวเรา คือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของการวางตัว การประพฤติตัว ของคนๆ นั้น ถ้าเกิดว่าเราวางตัว และประพฤติตัวเหมาะสมก็คงไม่เกิดโอกาสอะไรก็แล้วแต่ที่มันจะล่อแหลมทำให้เกิดเรื่องของการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือนินทาได้ ตราบใดที่เรารู้ตัวว่าเราวางตัว ประพฤติตัวเหมาะสม ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลเลย

    สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ทางพรรคมีนโยบายสนับสนุนผู้หญิงด้านใดบ้าง?
    เรื่องผู้หญิงเดี๋ยวคงมีแน่นอน อย่างท่านคณะกรรมการบริหารพรรคบางท่านที่เป็นผู้หญิงก็จะมีโปรเจกต์ที่ทำนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงโดยตรง น่าจะมีการประกาศรายละเอียดนโยบายพรรคเรื่องนี้ต่อไป

    ส่วนตอนนี้มีการพูดคุยกัน คือเรื่องของผู้หญิงเป็นเรื่องที่เราคงไม่มองข้ามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในระดับพรรคก็ดี หรือนโยบายในแง่ของระดับผู้สมัครก็ดี ผู้สมัครเขต ส.ส. ที่จะลงการแข่งขันกับเขต ฯลฯ มีความตั้งใจที่จะทำเรื่องของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกระดับ เรื่องสิทธิของผู้หญิง เรื่องการคุ้มครอง ง่ายๆ คือเรื่องของการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้หญิง อย่างที่ก่อนหน้านี้ก็จะมีกรณีที่ออกมาเรียกร้องในเรื่องของสิทธิสตรี ไม่ใช่ในแง่ของสิทธิในการทำอะไร แต่เป็นสิทธิที่จะได้รับในเรื่องการปกป้องคุ้มครอง

    คิดว่า “ผู้หญิงไทยยุคใหม่ในสังคมประชาธิปไตย” ต้องเป็นอย่างไร?
    สังคมประชาธิปไตยมันบอกอยู่แล้วว่าเป็นสังคมที่เปิดกว้างและพร้อมที่จะยอมรับในความแตกต่าง เพราะฉะนั้นคนที่เป็นประชาธิปไตยเต็มตัวก็ควรที่จะไม่มีข้อกังขาในเรื่องของเพศตั้งแต่แรก แต่ในแง่ของผู้หญิงเองก็มองว่าเราไม่ควรใช้ประเด็นในแง่ของเรื่องเพศไปเป็นข้อได้เปรียบ หรือเป็นข้อเรียกร้อง หรือว่ามองเป็นข้อด้อยของตัวเอง ตราบใดที่เรามองว่าผู้หญิงก็เท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้นเราก็ไม่ควรที่จะกังวลเรื่องประเด็นทางเพศเลย อยู่ที่คุณค่าของงานที่เราทำมากกว่า

    ยกตัวอย่างตอนที่เราไปทำฟุตบอลที่ประเทศมาเลเซีย ก็มีสื่อของเวียดนามมาสัมภาษณ์ว่ารู้สึกอย่างไรที่ครั้งแรกเราไปทำ Press Conference แถลงข่าวเปิดตัวฟุตบอลซีเกมส์ และเราก็เป็นผู้หญิงคนเดียวที่นั่งในโต๊ะกับผู้จัดการทีมโค้ชที่เป็นผู้ชายหมดเลย ตอนที่เขาถามคำถามแรกก็รู้สึกแปลกเหมือนกัน เพราะเราเองก็ไม่ทันคิดเลยว่าเราเป็นผู้หญิงคนเดียวที่นั่งอยู่ตรงนั้น ด้วยความที่เราอาจคุ้นเคยเพราะพี่น้องส่วนใหญ่ก็มีแต่ผู้ชาย วันนี้ทำงานในองค์กรต้องบอกเลยว่าร้อยละ 90 ก็เป็นผู้ชาย คือเราคุ้นกับสังคมที่เราก็เป็นผู้หญิงทำงาน บางทีเราก็ทำงานจนเราก็ลืมไปว่า เออเราเป็นผู้หญิงนะ หมายถึงเราไม่ได้มองข้อจำกัดในเรื่องของเพศ

    แล้วที่เราได้มีโอกาสทำงานกับทั้งน้องๆ รุ่นใหม่ก็ดี หรือผู้ใหญ่หลายๆ ท่านก็ดี เราก็ไม่เคยรู้สึกว่าเรามีเรื่องของการปิดกั้นหรือมีกำแพงตรงจุดนั้น เพราะสุดท้ายก็อยู่ที่ศักยภาพที่เราจะพิสูจน์ออกไปมากกว่า

    ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ คนรุ่นใหม่ที่มีสายเลือดนักการเมืองผู้มีบทบาทสำคัญในประเทศไทย

    พรรณิการ์ วานิช ก้าวสู่บทบาทใหม่ภายใต้อุดมการณ์เดิมผลักดันสังคมสู่ประชาธิปไตย
    ศิริภา อินทวิเชียร ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสร้างสรรค์ 
    ชนก จันทาทอง ทายาทนักการเมืองแดนอีสานมุ่งแก้ปัญหาเพื่อเกษตกรชาวไทย