พรรณิการ์ วานิช อดีตบรรณาธิการฝ่ายต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี และเคยเป็นผู้ดำเนินรายการวิเคราะห์ข่าว จากผู้ที่อยู่ในวงการสื่อมามากกว่า 6 ปี ผันตัวเองเข้าสู่สนามการเมือง ในตำแหน่งโฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) บทบาทที่ท้าทายภายใต้อุดมการณ์เดิมที่ต้องการผลักดันสังคมให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ประเด็นสำคัญที่เธออยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงคือ ให้สังคมไทยกลับมาเชื่อถือนักการเมือง เพราะสังคมไทยส่วนใหญ่ถูกฝังความคิดมาว่า นักการเมืองเป็นคนเลว เป็นกลุ่มมาเฟีย มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่เป็นมิตร ฉะนั้น ถ้าไม่เชื่อในตัวนักการเมือง ประชาธิปไตยจะไม่เกิด
จุดเปลี่ยนที่เบนจากสายงานสื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองไทย?
จริงๆ ต้องบอกว่า เราเรียนรัฐศาสตร์มาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท และมีความสนใจด้านการเมืองมาตั้งแต่แรก จึงเลือกเข้าไปทำข่าว ซึ่งเป็นเจตจำนงค์เลย เพราะจุดมุ่งหมายคือ อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปตามที่เราคิดเราฝัน ซึ่งหลังจากเรียนจบปริญญาโทก็ตกผลึกได้ว่า อะไรที่เป็นพลังผลักดันสังคมได้จริงๆ นั่นก็คือ สื่อ ซึ่งเราก็ได้ทำตามที่คิดจริงๆ คือทำข่าวต่างประเทศ ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย แล้วช่วงที่เป็นสื่ออยู่ก็คาบเกี่ยวระหว่างยุคประชาธิปไตยกับยุครัฐบาลทหาร เป็นช่วงวุ่นวายทางการเมืองของไทยยุคหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการทำงานข่าวที่มีสีสัน ได้ทำอะไรอย่างที่คิดเยอะแยะ
แต่จุดเปลี่ยนคือ เมื่อมาถึงยุคของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามากดดันสื่อมาก มีทหารมาประจำที่ห้องส่ง พร้อมอาวุธต่างๆ ก็เป็นแรงผลักดันทำให้เราคิดว่า ถ้าเป็นสื่อที่อยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย เราสามารถทำอะไรได้เยอะแยะ แต่พอเป็นสื่อยุครัฐบาลเผด็จการ เราต้องเลือกระหว่าง เซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด กับ กล้าเสนอแบบร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มีโอกาสถูกปิด ซึ่งการอยู่ในเส้นแบ่งแบบนั้นทำให้ยากต่อการใช้ชีวิต จนกระทั่ง ผศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล กับ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาชักชวน ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อพรรคอนาคตใหม่ เป็นการรวมตัวของคนกลุ่มหนึ่งก่อน เราก็ถามเขาอย่างหนึ่งว่า “คิดว่าระหว่างทำการเมืองกับคุณ ซึ่งเป็นพรรคอะไรก็ไม่รู้ จะเดินไปทางไหนเราก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม กับเป็นนักข่าว อะไรที่ตอบโจทย์อุดมการณ์ของเราได้มากที่สุด” ทั้งสองคนก็พูดกับเราตรงๆ ว่า “ไม่รู้หรอก เพราะเป็นเรื่องอนาคต แต่มีความเป็นไปได้ถ้าคุณมาทำงานทางการเมือง คุณจะได้ทำอะไรที่มากกว่าการเป็นนักข่าว”
เหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมพรรคอนาคตใหม่?
หลังจากที่คุยกัน เราใช้เวลาตัดสินใจ 2 วัน ซึ่งน้อยมากจากการที่เราต้องตัดสินใจออกจากงานที่มั่นคง เพราะหลังจากที่ได้พูดคุยกันก็กลับมาคิดตลอดว่าถ้าไปจะเป็นอย่างไร คือหยุดคิดถึงไม่ได้เลย จึงคิดว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราคงมีแพสชั่นกับสิ่งนี้แล้ว ถ้าไม่ตัดสินใจตอนนี้ก็คงจะเสียใจไปตลอดชีวิต เลยตัดสินใจลาออกจากงานนักข่าวจากที่ทำมา 6 ปีครึ่ง มาทำงานการเมืองเต็มตัว เราคิดถึงความเป็นไปได้ ว่าหากเราเข้ามาทำงานการเมือง เราจะสามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนสังคมได้มากกว่าการเป็นนักข่าว
มีประเด็นไหนที่อยากเข้ามาช่วยแก้ไขให้เกิดขึ้นจริงบ้าง?
เรื่องที่เป็นพื้นฐานและง่ายที่สุดคือ ให้สังคมไทยกลับมาเชื่อถือนักการเมือง เพราะถ้าคุณไปถามเด็กๆ ว่าโตไปอยากทำอาชีพอะไร คงไม่มีใครตอบว่าอยากเป็นนักการเมือง อาจจะอยากเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง แต่ถ้าถามถึงอาชีพ น้อยคนจะตอบอาชีพนี้ เพราะสังคมไทยส่วนใหญ่ถูกฝังความคิดว่า นักการเมืองเป็นคนเลว ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่ต้องเปลี่ยน เพราะถ้าคุณไม่เชื่อในตัวนักการเมือง ประชาธิปไตยจะไม่เกิด ไทยมีคนกว่า 69 ล้านคน จะให้เปิดลงประชามติโหวตทุกเรื่องไม่ได้ คุณจึงจำเป็นต้องมีผู้แทนราษฎร นักการเมือง และพรรคการเมือง ถ้าคุณไม่เชื่อในพรรคการเมืองและนักการเมือง ประชาธิปไตยจะเกิดไม่ได้ เพราะในสังคมมีกลุ่มคนชนชั้นนำที่ปลูกฝังคนผ่านการศึกษา นิยาย หนัง ศิลปะ ให้คนรู้สึกว่า การเมืองสกปรก นักการเมืองเป็นตัวร้าย จงใจให้คนไม่เชื่อถือศรัทธาในนักการเมืองและประชาธิปไตย อันนี้คือสิ่งที่ต้องแก้ไข
การเมืองไม่ใช่เรื่องอันตราย ถ้าคุณคิดว่าเป็นเรื่องสกปรกคุณต้องแก้ไข นี่คือเรื่องที่คนในพรรคอนาคตใหม่คิดร่วมกัน การเมืองคือเรื่องสนุก คือเรื่องที่คนอยากเข้ามามีส่วนร่วมและต้องได้ร่วม
คิดว่าการเมืองไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากน้อยแค่ไหน?
ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราไม่เคยเชื่อเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศ จนกระทั่งเข้ามาทำงานการเมือง อย่างตอนที่ทำงานเป็นนักข่าว เราเป็นผู้หญิง เป็นเด็ก มีประโยชน์นะ เพราะแหล่งข่าวส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย การเป็นนักข่าวผู้หญิงได้เปรียบ เพราะแหล่งข่าวไว้ใจ สนิทสนมได้ง่ายกว่า ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการทำงานก็ถือว่าทำให้งานง่ายขึ้น แต่พอกลับมามองเชิงสังคม บริบทแบบนี้คือไม่ปกตินะ การที่แหล่งข่าวส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แสดงถึงอำนาจของผู้ชายในสังคม เพราะแหล่งข่าวคือผู้ที่มีความสำคัญด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนกรณีที่แหล่งข่าวผู้ชายไว้ใจนักข่าวหญิงมากกว่า อาจไม่ใช่เรื่องสัมพันธ์ทางเพศ แต่เพราะเขาเชื่อว่าผู้หญิงไม่มีพิษมีภัย โดยเฉพาะนักข่าวสายทหาร สายความมั่นคง ผู้หญิงจะทำงานสะดวกมาก ซึ่งนี่คือความเหลื่อมล้ำทางเพศอย่างหนึ่ง เพราะเขามองว่าผู้หญิงคือเพศที่ด้อยกว่า
พอได้มาทำงานการเมืองยิ่งเห็นชัด เช่น ผู้สมัคร ส.ส. หญิง หรือคนที่เข้ามามีตำแหน่งสูงๆ คนจะมองว่า ถ้าไม่เป็นลูกใครก็ต้องเป็นภรรยาใคร คือเขาจะไม่คิดว่าเราเข้ามาเพราะความสามารถ หรืออย่างกรณีที่ผู้สมัครหญิงรุ่นใหม่หน้าตาดีไปพูดปราศัยบนเวทีพรรคต่างๆ ก็จะมีบรรดาผู้นำชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมาพูดต้อนรับว่า “สวยๆ แบบนี้พี่ช่วยเต็มที่” ซึ่งอาจจะมองว่าเป็นคำพูดธรรมดาๆ แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิง คือคำพูดนี้ใช้ไม่ได้เลยนะ คุณจะมาบอกว่าคุณสมบัติของผู้สมัครหญิงคือความสวย อันนี้ผิด
เคยเกิดกรณีความไม่เท่าเทียมทางเพศกับตัวเองบ้างไหม?
อย่างวันที่เราได้ขึ้นเวทีพูดปราศรัย คือตั้งใจมาก โอเค มีคนชมว่าเราพูดดี แต่ก็จะมีคนชมว่า “วันนี้แต่งตัวสวย” ซึ่งถ้าเป็นนักการเมืองชาย ไม่มีใครเดินมาชมหรอกว่าวันนี้สูทสวย นี่คือมุมหนึ่งที่เห็นว่าในวงการอำนาจเต็มอย่างวงการการเมือง ผู้หญิงไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเท่านักการเมืองชาย ถ้าจะได้รับการต้อนรับก็มักถูกมองว่า เป็นคนของใครมากกว่าคุณมีความสามารถอะไร แต่ยุคนี้ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปมากกว่ายุค 10-20 ปีที่ผ่านมา สมัยนั้นคงเจออะไรที่รุนแรงกว่านี้
ซึ่งเอาจริงๆ แล้วในวงการการเมืองไม่ใช่แค่เพียงผู้หญิงเท่านั้น แม้กระทั่งเด็ก หรือกลุ่ม LGBTQ ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด เพราะอำนาจการเมืองยังอยู่ในกลุ่มของชายสูงอายุ ทำไมเราต้องพิสูจน์ความสามารถมากกว่านักการเมืองชายสูงวัย ทำไมทุกคนไม่พิสูจน์ตัวเองเท่าๆ กันว่ามีความสามารถมากพอที่จะเข้าสู่สภา นี่คือความไม่เท่าเทียมทางการเมืองที่เห็นชัด
มีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อนักการเมืองหญิงถูกใส่ร้าย โดยเฉพาะเรื่องชู้สาว?
มีทางเดียวคือพิสูจน์ ทำให้เห็นความสามารถของเรา ส่วนเรื่องข่าวปลอมสู้ได้ด้วยความจริง ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ มีทั้งคนส่งข่าวจริงข่าวปลอม ถ้ามีข่าวปลอมเราก็เอาความจริงเข้าสู้ ใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมาเราต้องรับมือกับข่าวปลอมเยอะมากทั้งในนามพรรคอนาคตใหม่และคุณธนาธร โดยเราแก้ด้วยความจริง แล้วผู้สนับสนุนก็จะช่วยเผยแพร่ สิ่งที่จะช่วยเราได้จริงๆ คือประชาชนที่มีวิจารณญาณในการเสพสื่อ
พรรคมีนโยบายสนับสนุนผู้หญิงหรือไม่?
ในพรรคเราคุยกันว่าจะไม่ตั้งโควตา แต่ขอความร่วมมือให้เป็นวัฒนธรรมของพรรคเลยว่า ในการเลือกตั้ง แต่งตั้ง สรรหาบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรรมการพรรค ขอให้คัดเลือกอย่างหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะทางเพศ ผู้หญิง LGBTQ แต่รวมถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หรือความหลากหลายทางอาชีพด้วย โดยกรรมการบริหารพรรคมีทั้งหมด 17 คน มี 5 คนเป็นผู้หญิง ซึ่งไม่ใช่โควตา เราพยายามให้มีผู้หญิงเข้ามาด้วย ส่วนผู้สมัครเราก็ตั้งเป้าว่าอย่างน้อยต้องมีผู้หญิง 1 ใน 3
คิดว่า “ผู้หญิงไทยยุคใหม่ในสังคมประชาธิปไตย” เป็นอย่างไร?
เราเชื่อเสมอว่า สังคมจะมีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อนักการเมืองหญิงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของผู้หญิง หรือนักการเมืองเกย์ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของเกย์ แต่พวกเขาเข้ามาเพราะเป็นตัวแทนของประชาชน จากอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมือง ฉะนั้น เมื่อถึงจุดนั้น เราก็จะอยู่ในสังคมที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
วทันยา วงษ์โอภาสี นางฟ้าลูกหนังกับก้าวแรกในสนามการเมืองไทย
ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ คนรุ่นใหม่ที่มีสายเลือดนักการเมืองผู้มีบทบาทสำคัญในประเทศไทย
ศิริภา อินทวิเชียร ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสร้างสรรค์
ชนก จันทาทอง ทายาทนักการเมืองแดนอีสานมุ่งแก้ปัญหาเพื่อเกษตกรชาวไทย