Wednesday, May 24, 2023
More

    โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ บทพิสูจน์ของออริจินัลซีรีส์เรื่องแรกของไทยใน Netflix

    เชื่อว่าซีรีส์เรื่อง เคว้ง (The Stranded) คงอยู่ในความสนใจของใครหลายคน ด้วยเพราะเป็นออริจินัลซีรีส์เรื่องแรกของไทยทาง Netflix บวกกับเรื่องราวที่ลึกลับตื่นเต้น จนชวนให้ติดตาม ซึ่งเป็นผลงานของ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ผู้กำกับจากโปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต, ลัดดาแลนด์, ฝากไว้..ในกายเธอ และเพื่อนที่ระลึก ที่ถือว่าช่ำชองในการทำหนังผี เพียงแต่ครั้งนี้ถือว่าแตกต่างไปจากเดิม ซึ่ง BLT มีโอกาสพูดคุยถึงเบื้องหลังการพาซีรีส์ไทยที่กำลังเผยแพร่ไปสู่สายตาคนทั่วโลกกว่า 190 ประเทศในครั้งนี้

    ช่วยเล่าย้อนถึงประสบการณ์กับโลกภาพยนตร์ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร
    “ตอนเด็กที่บ้านชอบดูหนังผี เวลาเช่าวิดีโอหนังผีมาดู ผมจะตื่นเต้น เลยทำให้โตมากับการดู Freddy Krueger ซึ่งเป็นไอเดียแรกที่พอมีโอกาสทำหนังเรื่องแรกจึงเกี่ยวกับโรงหนัง เพราะว่าตอนเด็กเวลาดูหนังเสร็จแล้วก็กลัวว่าผีในหนังจะออกมาจริงๆ เลยกลายเป็นหนังเรื่องโปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต”


    มาค้นพบว่าอยากจะเป็นผู้กำกับตั้งแต่เมื่อไร
    “ตั้งแต่เขียนบทเรื่องชัตเตอร์ กดติดวิญญาณผี จนเขียนบทเรื่องแฝดจบ ผมก็รู้สึกว่าอยากทำหนังของตัวเอง ซึ่งเวลามีไอเดียอยากทำหนัง คนที่จะมีโอกาสได้ทำหนังเรื่องนั้นมากที่สุดคือผู้กำกับ ที่ผ่านมาตอนทำหนังสั้นผมก็ทำเองทุกอย่างอยู่แล้ว ตั้งแต่สากเบือยันเรือรบ เลยขอกำกับหนังเรื่องแรกก็คือโปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต”

    สังเกตว่าเป็นมือเขียนบทและกำกับหนังแนวสยองขวัญมาตลอด เพราะอะไรถึงทำแนวนี้ทั้งนั้นเลย
    “ผมรู้สึกว่าเวลาทำหนังที่มีฉากตื่นเต้นตกใจ เหมือนเป็นการกำกับคนดูว่าจุดนี้ต้องลุ้น เริ่มกลัวจนนั่งไม่ติด ต้องตกใจ เลยเป็นความสนุกมากกว่าการเล่าเรื่องแนวอื่นๆ บวกกับการที่ผมเป็นคนกลัวผีด้วย เลยรู้ว่าอะไรมันน่ากลัว”

    แล้วอะไรคือเสน่ห์ของหนังผี
    “หลักๆ เป็นเรื่องของการกำกับอารมณ์และสื่อสารกับคนดู ตั้งแต่เรื่องลัดดาแลนด์เป็นต้นมา ผมค้นพบอย่างหนึ่งว่าหนังสยองขวัญมีความดราม่าอยู่ในนั้น สามารถสอดแทรกความคิดหรือการเรียนรู้อะไรบางอย่างผ่านตัวละครได้”

    ขั้นตอนไหนของการทำหนังที่ทำให้เครียดมากที่สุด
    “ผมว่าเขียนบทเป็นขั้นตอนที่เครียดมากที่สุด เพราะว่ามันเริ่มจากศูนย์จริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ เสร็จเมื่อไรก็ไม่รู้ มีทางเลือกล้านแปด พอทางเลือกเยอะก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จึงเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยที่สุด แต่ผมชอบนะ บทหนังเราไม่มีทางรู้เลยว่าดีหรือไม่ บางทีกว่าจะรู้ก็ตอนที่เราไปถ่ายทำแล้ว หรือจนกว่าจะมีคนมาอ่านงานของเราแล้วคอมเมนต์ มันเลยเคว้งสุดในตอนนี้ แล้วในประเทศไทย คนเขียนบทภาพยนตร์กับกำกับภาพยนตร์ โดยส่วนมากจะเป็นคนเดียวกัน ซึ่งบ้านเราค่อนข้างจะขาดแคลนคนเขียนบทอาชีพ”

    แล้วความสุขล่ะ
    “เวลาเขียนบทเหมือนจะเครียดและยากที่สุด แต่สำหรับผมก็เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ิอาชีพอื่นจะหาไม่ได้ง่ายๆ เลยคือโมเมนต์แห่งความคิดออก พอมีจุดหนึ่งที่เราคิดออกจากที่เครียดมา 3-4 วัน มันจะกระชุ่มกระชวย มีความสุขมากๆ ผมคิดว่าโมเมนต์แห่งความคิดออกคงมีสารอะดรีนาลีนหลั่งออกมา ผมเคยได้ยินว่ามีอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่คนพูดถึงความสุขของโมเมนต์แห่งความคิดออก เป็นโมเมนต์ที่คนทำงานครีเอทีฟทุกคนเสพติดความสุขด้านนี้ เลยทำให้เรายังจะอดทนทำได้อยู่”

    มีงานเขียนบทของคุณคือ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ซึ่งต่างชาตินำไปสร้างหนังต่อ อยากรู้ว่าเขามองหนังสยองขวัญจากไทยแบบไหน
    “ผมมองว่าลึกๆ แล้วฝรั่งจะกลัวพวก Evil หรือ Devil มากกว่าวิญญาณ อย่างเช่น Conjuring หรือ Annabelle ชัดเจนว่าคือปีศาจที่มาทำให้กลัว เขาจะมีความเชื่อคนละอย่างกันเรา เพราะผมสังเกตว่าถ้าเป็นในฝั่งเอเชียเราจะ Rerated กับวิญญาณ อย่าง Juon หรือ The Ring”

    คิดว่าด้วยผลงานจาก ชัตเตอร์ฯ หรือเปล่าที่ฝรั่งนำไปทำต่อ จนเป็นใบเบิกทางให้คุณมาสู่เคว้ง
    “ผมว่าอาจจะเก่าเกินไป เขาไม่ได้ชวนเราจากตรงนั้นหรอก คงเกิดจากการที่เราทำหนังแนวนี้มาเยอะ แล้วพอ Netflix มาชวน GMM Grammy ทำ พี่เอกชัย เอื้อครองธรรม ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของแกรมมี่ เป็นผู้เลือกผมมากำกับ แต่ตอนแรกเขาก็ไม่ได้ซื้อตัวผม 100% นะ เพราะว่าโปรไฟล์ของผมเป็นหนังผีซะส่วนมาก ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการให้เป็นหนังผี เพราะตัวซีรีส์มีความลึกลับแต่ไม่ใช่ผี”

    “สิ่งที่ทำให้ผมได้เข้าไปทำโปรเจกต์นี้เป็นเรื่องของไอเดีย ผมฟังแล้วเอาไปคิดต่อ ฝรั่งเขาจะมีไบเบิล ซึ่งเป็นโครงเรื่องใหญ่ เป็นเหมือนจักรวาลของเรื่อง แม้ว่าซีรีส์จะไม่ได้เล่าทั้งหมดในซีซันแรก แต่จะมีจักรวาลของมันอยู่ ผมก็ช่วยคิดไอเดียของจักรวาลนั้นเพิ่มเติมแล้วไปขายเขา ซึ่งเขาก็สนใจ เลยไฟเขียวให้ผมได้ทำและแก้ไขบทเดิม”


    อะไรบ้างที่ไปขายเขา
    “คงบอกไม่ได้ เวลาเขาทำซีรีส์หนึ่งเรื่อง ไบเบิลจะกว้างมาก คือสิ่งที่เฉลยเรื่องราวทั้งหมด สิ่งที่เราทำในซีซัน 1 จำนวน 7 ตอน เป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของไบเบิลทั้งหมด”

    แสดงว่าจะมีจะมีซีซันต่อไปอย่างแน่นอน
    “ผมว่าถ้าคนดู EP.7 ของซีซัน 1 จบแล้ว จะเข้าใจว่าที่ผ่านมาแค่ปูเรื่อง แล้วจะนำไปสู่อะไรที่ใหญ่กว่านี้มาก”

    อย่างที่บอกว่าไม่ใช่หนังผี แล้วเป็นแนวไหน
    “ผมว่าถ้าดูจาก EP.1 แล้ว จะเข้าใจว่ามีความเป็นดราม่าทริลเลอร์ มีความลึกลับ เหนือธรรมชาติ ผมจะยังไม่ใช้คำว่ามีความเป็น Sci-Fi เพราะถ้ายังดูไม่จบจะไม่เข้าใจว่าเป็น Sci-Fi ยังไง ซึ่งในซีซัน 1 เป็นการปูเรื่อง เลยยังไม่เห็นภาพตรงนั้น แต่หลังจากซีซัน 1 ไป มันต้องมีอยู่แล้ว”

    ใช้เวลามากน้อยแค่ไหนกับซีรีส์เรื่องนี้
    “แรกสุดเลยทางแกรมมี่ได้ทำบทร่วมกับ H2L Media Group จากฝั่งอเมริกา ซึ่งก็ใช้เวลาในการเขียนบทนานประมาณหนึ่ง พอผมมารับหน้าที่กำกับก็มารื้อบทใหม่อีกรอบ ซึ่งใช้เวลาที่สั้นมาก เพราะเขาล็อกวันที่จะออนไลน์แล้ว ซึ่ง Netflix จะออนแอร์ 190 ประเทศทั่วโลก เลยไม่ให้เลื่อนวันฉาย ผมจึงใช้วิธีการเพิ่มชั่วโมงทำงานต่อวัน นั่งแก้บททั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ทัน”

    “ถ้านับวันทำงานจริงๆ จะน้อยกว่าโปรเจกต์ทำหนังใหญ่ เพราะหนังใหญ่สามารถเขียนบท 9 เดือนจนถึง 1 ปี ซึ่งผมเริ่มเข้ามาทำงานปลายกันยายนปีที่แล้ว แต่ว่า Netflix จะมีการพากย์เสียงในหลายประเทศด้วย ฉะนั้นเดตไลน์ในการส่งงานก็จะล่วงหน้าประมาณ 3 เดือนก่อนฉาย แพลนคือต้องส่งไฟนอลทั้งหมดประมาณปลายสิงหาคม 2562 แต่สุดท้ายแล้วพอเราอยากให้มันออกมาดี ก็ขอแก้นั่นแก้นี่จนใกล้จะฉาย”


    ที่ว่าหนังใหญ่เขียนบทเป็นปี แต่กับซีรีส์นี้สั้นกว่า คุณต้องเคี่ยวกรำตัวเองมากแค่ไหน ถือว่าโหดหินไหม
    “ที่โหดคงเป็นชั่วโมงการทำงานต่อวันที่เยอะ เฉลี่ยอยู่ที่ 4 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมาก แต่ส่วนหนึ่งเพราะว่ามีไอเดียเริ่มต้นที่คิดมาแล้ว ถึงแม้จะเปลี่ยนเยอะแค่ไหนเราก็มีกรอบการทำงานที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ซึ่งส่วนมากเวลาเราเขียนบทหนัง ครึ่งหนึ่งจะเสียไปกับการตั้งไข่ว่าจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับอะไรดี ช่วงการทำงานจริงๆ อยู่ที่ 6 เดือนหลัง ที่มาเติมรายละเอียด สำหรับเคว้ง เริ่มเขียนบทกันตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ก็ถือว่าใช้เวลาไม่น้อย”

    ในการออกกองถ่ายล่ะ
    “ระบบการถ่ายทำก็ไม่เหมือนกับบ้านเราด้วย ของไทยจะนับเป็นคิว ยกตัวอย่างหนังเรื่องหนึ่งจะประมาณ 25-30 คิว นับเป็นคิวต่อวัน อาทิตย์หนึ่งถ่าย 3-4 วัน แต่ต่างชาติเป็นระบบ Week ซึ่งต้องถ่ายทำอย่างน้อย 6 วัน เป็นระบบรูทีนที่เราอาจจะไม่ชินเท่าไร ซึ่งก็ดีอย่างเพราะเป็นระบบที่ทำให้งานไปได้อย่างรวดเร็ว”

    “เราใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 4 เดือน แต่คิวถ่ายเยอะมาก ประมาณ 70 คิว มันสนุกตรงที่ว่าเป็นซีรีส์ที่ผมใช้วิธีการคิดและถ่ายเหมือนหนังใหญ่ เลยต้องใช้จำนวนวันในการถ่ายทำเยอะ แล้วมีความยากในเรื่องของซีนพิเศษ อย่างซีนใต้น้ำ หรือซีนสลิง” 

    ทีมงานเป็นคนไทยทั้งหมดเลยไหม
    “การถ่ายทำเป็นทีมงานคนไทยทั้งหมด เพียงแต่ว่าเป็นทีมที่ทำหนังต่างประเทศ อย่างกองถ่ายจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทย”

    “จริงๆ แล้วใช้ทีมทำหนังไทยก็ได้ แต่ผู้สร้างเป็นต่างชาติ ฉะนั้นระบบกองหนังฝรั่งจะไม่เหมือนหนังไทย ที่ผมสังเกตเห็นชัดเจนคือระบบการทำรีพอร์ต เพื่อให้ทางทีมงานต่างชาติตรวจ ให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีระบบการจัดการอย่างไร เริ่มงานกี่โมง ทำงานเสร็จกี่โมง ถ่ายอะไรบ้าง มีปัญหาอะไรในแต่ละวัน การทำรีพอร์ตจะละเอียดมาก ในแบบที่คนไทยไม่เคยทำ ต่างชาติเขาอยู่ไกลจะไม่เห็นการทำงาน ถ้าไม่มีรีพอร์ตจะควบคุมงานไม่ได้”


    แล้วในฐานะผู้กำกับปรับตัวยากไหม
    “เวลาปรับตัวมีไม่ค่อยเยอะหรอกครับ ผมจะเหนื่อยเรื่องของการออกกองถ่ายมากกว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้ถ่ายทำทุกวัน จะมีวันหยุดระหว่างถ่ายค่อนข้างเยอะ เช่นจะไม่ถ่ายติดต่อกันเกิน 3 วัน ซึ่งเป็นข้อดีที่ระหว่างการถ่ายทำมีเวลาเอาฟุตเทจมานั่งคิดว่าขาดตรงไหน จะแก้อะไรก็เพิ่มเติมได้ พอเป็นการถ่ายทำแบบ 6 วันก็ค่อนข้างเหนื่อยตรงที่ว่าต้องใช้เวลาหลังจากเลิกกองมานั่งคิดต่อ แต่ว่าในขณะเดียวกันพรุ่งนี้ก็ต้องถ่ายอีกแล้ว เหมือนกับว่าต้องทำงานเป็นสองกะ แต่ระบบก็ดีอยู่อย่าง ถ่ายทุกวันก็จริง แต่จะมีระบบ Turn Around คือเลิกกอง 6 โมงเย็นสามารถเรียกกองวันต่อมาได้เร็วสุดคือ 6 โมงเช้า ทำให้ทีมงานได้กลับไปพัก 12 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งเป็นระบบที่เซฟคนทำงาน”

    เด็กไฮโซติดเกาะ เจอสึนามิ และเหตุการณ์ประหลาด อะไรที่โดนใจในคอนเซปต์นี้ 
    “ตัว Trailer อาจคิดว่าเป็นหนัง Disaster หรือ Survival แต่เป็นแค่บริบทของตัวละคร เพราะจริงๆ เรื่องพูดไกลกว่านั้น การติดเกาะหลังจากเกิดสึนามิเป็นแค่เงื่อนไขที่ทำให้เด็กอยู่ที่เกาะมากกว่า เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องลึกลับ”

    ในตัวละครชื่อครามได้ใส่บทที่ต่อต้านความไม่ยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะอะไรถึงสอดแทรกเรื่องนี้
    “ครามมีแบ็กกราวด์ชีวิตที่เป็นมากกว่าเป็นลูกชาวประมงจนๆ เป็นพวก Outsider อีกชนชั้น แต่เป็นเด็กทุนที่ได้มาเรียนกับพวกนักเรียนไฮโซ เป็นคนเดียวในโรงเรียนที่ไม่เข้าพวกกับคนอื่น ซึ่งเป็น Conflict ที่น่าสนใจ ถ้าเวลาที่อยู่ในสังคมทั่วไปเขาจะเป็นชนชั้นล่าง แต่หลังจากเกิดสึนามิ เหมือนล้างไพ่ใหม่ คนที่เคยอยู่ในสังคมชั้นสูง มีเงินและฐานะทางสังคม ก็ถูกละลายมาอยู่ในชนชั้นเดียวกันกับคนที่ไม่เคยมีเงิน”


    ธรรมชาติไม่รู้หรอกว่าใครรวย ใครจน ทุกคนโดนเหมือนกันหมด
    “ใช่ครับ เมื่อวันหนึ่งที่เราไม่สามารถใช้เงินเป็นตัวแบ่งคุณค่าของคนได้ มันจะเริ่มวัดคุณค่าด้วยตัวคนจริงๆ ไม่ใช่ฐานะหรือนามสกุลแล้ว เป็นดราม่าที่เราสนใจที่จะสอดแทรกลงไป”

    คาดหวังกับซีรีส์เรื่องนี้ไว้อย่างไร
    “ผมไม่ได้ถึงขั้นจะคาดหวังว่าทุกคนจะชอบ แต่อยากจะให้ลองเปิดรับมากกว่า เหมือนกับเราไปลงแข่งในสนามระดับโลก ที่คนทั่วโลกสามารถดูได้ เลยคาดหวังว่าอยากให้เขาเข้าใจหรือสามารถสื่อสารกับเขาได้ เพราะเคว้งก็กึ่งๆ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปชกบนเวทีโลก ถ้าต่างชาติเขาสนใจก็เป็นโอกาสที่ดีในอุตสาหกรรมซีรีส์หรือภาพยนตร์ไทย ในการที่จะทำให้คนต่างชาติดู เหมือนกับญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ที่สามารถตีตลาดโลกได้แล้ว ซึ่งคนเริ่มเปิดใจในการฟังภาษาอื่นได้มากขึ้น”

    “ถ้าเทียบกับ Netflix แล้ว เคว้งคือหนังภาษาอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาหลักในเอเชีย อย่างจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมที่คนทั่วโลกเริ่มคุ้นเคยแล้ว แต่ภาษาไทยเป็นอีกภาษาหนึ่งที่เขายังไม่ได้คุ้นเคยมาก ผมเชื่อว่าการดูซีรีส์ภาษาไทยเป็นความแปลกใหม่ของเขาเหมือนกัน แล้วถ้าเขาเกิดชอบก็เป็นโอกาสดีที่ซีรีส์หรือหนังไทยเรื่องอื่นๆ จะเป็นที่คุ้นเคยมากขึ้น”